ชื่อไทย                  ตะโกนา (Ebony)

ชื่อท้องถิ่น             โก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นมงัว (นครราชสีมา) มะโก (ภาคเหนือ) มะถ่านไฟผี  (เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Diospyros rhodocalyx  Kurz

วงศ์                      EBENACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  สูงประมาณ 8 – 15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปไข่ ทึบ ปลายกิ่งมักห้อยลู่ลง ลำต้นเปลาตรง แต่แตกกิ่งต่ำ เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดหนา

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ป้อม หรือสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง 2.5 – 7 เซนติเมตร ยาว 3 – 12 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียว รูปลิ่ม หรือป้าน ขอบใบเรียบ ปลายใบมน หรือหเว้า แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบอ่อนมีขนสั้นนุ่ม

ลักษณะดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อกระจุกสั้นๆ หนึ่งช่อมีประมาณ 3 ดอก ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยรูประฆังสีขาว หรือเหลืองอ่อน ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ยาว 3 – 4 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ส่วนด้านในมีขนหยาบ กลีบดอกรูปคนโท โคนเชื่อมติดกันยาว 8 – 12 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 4 กลีบเล็กๆ เกสรผู้มี 14 – 16 อัน ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยวที่ง่ามใบ ทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 4 กลีบ คล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ขนาดใหญ่กว่า

ลักษณะผล ผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุม ผลแก่เกลี้ยงและออกสีเหลืองอมเขียว มีกลีบเลี้ยงปิดตรงขั้วของผล แฉกลึกครึ่งหนึ่ง ไม่พับงอ

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน ติดผลระหว่างเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน

เขตการกระจายพันธุ์

                 พบในอินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในประเทศไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ความสูง 100 – 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์

เนื้อไม้: ใช้ทำด้ามเครื่องมือทางเกษตร เสา คาน

ราก: น้ำต้มรากรับประทานแก้โรคเหน็บชา โรคทางเดินปัสสาวะ น้ำเหลืองเสียแก้ปวดเมื่อย

อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร และแก้ร้อนใน

เปลือก: เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง กระตุ้นร่างกายกระปรี้กระเปร่า

ผล: กินแก้ท้องร่วง ตกเลือด แก้บวม ขับพยาธิและแก้ฝีเน่าเปื่อย ใช้เป็นสีย้อมผ้า

เปลือกผล: เผาเป็นถ่านแช่น้ำ กินขับระดูขาวและขับปัสสาวะ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0012″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นตะโกนา”]