ชื่อไทย                  โมกมัน (Ivory)

ชื่ออื่น                     มูกน้อย มูกมัน (น่าน) มักมัน (สุราษฎร์ธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.

วงศ์                         APOCYNACEAE

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8 – 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงกลมทึบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีเทาอ่อนถึงน้ำตาล เปลือกในสีขาวนวลถึงขาวอ่อน กิ่งและยอดอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือไข่กลับ กว้าง 3 – 8 เซนติเมตร ยาว 7 – 18 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบบาง มีขนนุ่มทั้งสองด้าน

ลักษณะดอก ช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาวนวล ดอกตูมกลีบบิดเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา เมื่อดอกบานกลีบบิดเวียนกันเป็นรูปกังหัน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉกมนๆ 5 แฉก ยาว 1 – 2 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ยาว 2 – 5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นกลีบรูปขอบขนาน 5 แฉก ยาว 7 – 14 มิลลิเมตร มีขนนุ่มทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้ มี 5 อัน ติดอยู่ใกล้ๆ ปากหลอดกลีบดอกด้านใน ก้านเกสรสั้น

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอก กว้าง 0.6 – 1.8 เซนติเมตร ยาว 10 – 20 เซนติเมตร มีร่อง 2 ร่อง พาดตามทางยาวของฝัก ผิวของฝักขรุขระด้วยต่อมระบายอากาศ เมล็ดรูปรี ปลายข้างหนึ่งมีขนสีขาว

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม ฝักแก่เต็มที่ประมาณเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าโปร่งทั่วไป พื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์

เนื้อไม้: ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องเขียน ตู้ โต๊ะ ไม้คาน ไม้พาย ตะเกียบ ไม้บุผนังห้อง

เปลือก: ใช้รักษาโรคไต ทำให้เจริญอาหาร รักษาธาตุให้ปกติ ทำให้ประจำเดือนมาปกติ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ฆ่าเชื้อรำมะนาด

ดอก: ใช้เป็นยาระบาย

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน)

 

 

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0004″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นโมกมัน”]