เตรียมรับปรับตัวพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหารก่อนวิฤกตโลกร้อน

https://adeq.or.th/wp-content/uploads/2018/06/เตรียมรับปรับตัวพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหารก่อนวิฤกตโลกร้อน.jpg

บ่อยครั้งจะพบว่าแม่บ้านหรือสมาชิกในครอบครัวรออะไรสักอย่างด้วยใจจดจ่อว่า เมื่อไรจะมีมาสักที บางครั้งจะพบว่าการรอดังกล่าวเชื่อมโยงกับการดูเวลาและควบคู่ไปกับการบ่นพึมพำของคนที่เฝ้ารอด้วยท่าทีกระวนกระวาย ในที่สุดก็พบว่าคนเหล่านี้รอรถกับข้าวที่จะวิ่งเข้ามาในหมู่บ้านนั่นเอง ทั้งๆ ที่ของที่อยากซื้ออยากได้ไม่ได้หายากแต่อย่างใด มีอยู่ในละแวกบ้านที่อาศัยนั่นเองแต่ไม่สามารถเก็บหามาได้ เนื่องจากของเหล่านั้นอยู่ในเขตพื้นที่การครอบครองของผู้อื่น แต่ก่อนเราเคยมองหาเครื่องเทศบริเวณชายคาและรั้วบ้าน  เคยจับปลาในแหล่งน้ำใกล้บ้าน ต้องการเมื่อไหร่ก็เดินไปหามา ถึงกับมีคำกล่าวกันว่า “ ข้าวมาจากนา ปลามาจากน้ำ” ปัจจุบันเงื่อนไขต่างๆ ได้เปลี่ยนไป เครื่องเทศ เครื่องแกง ผัก ผลไม้ และโปรตีน ล้วนเป็นผลผลิตที่มาจากที่เพาะปลูกที่อื่นๆ และยังพบอีกด้วยว่า บางแห่งพึ่งพาอาหารที่มาจากการจัดส่งจากตลาดกลางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้เป็นแหล่งผลิต แต่ต้องหาซื้อมาจากผู้ผลิตที่อยู่ไกลออกไป ปัจจุบันหลายแห่งต้องกล่าวว่า “ข้าวมาจากนา ปลามากับเพลง” เนื่องจากรถขายอาหารที่มีผัก ปลา มาจำหน่ายนั้น มักจะเปิดเพลงนำหน้าเรียกลูกค้าขาประจำและที่ไม่ใช่ขาประจำ  เตรียมพร้อมออกมาซื้ออาหารได้

            ภาวการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองด้านอาหารของหลายชุมชนลดน้อยลงแล้ว โดยชุมชนในพื้นที่ที่ทำการผลิตพืชเศรษฐกิจ หรือพื้นที่ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการขายแรงงานเลี้ยงชีพ คนในพื้นที่เหล่านี้จะใช้เงินที่หามาได้ จากการขายแรงงานและผลผลิตเพื่อแลกซื้ออาหารเกือบทุกชนิด

            ภาวะอากาศร้อนและชื้นในประเทศไทย เอื้อต่อการงอกและเจริญเติบโตของพรรณไม้จำนวนมาก จะเห็นว่าพืชผักสวนครัวและเครื่องเทศปรุงอาหารงอกและเจริญเติบโตอยู่ตามชายรั้ว ข้างทางระบายน้ำ ข้างภาชนะรองรับมูลฝอย และที่ดินที่รกร้างโดยรอบอาคาร จากการตกหล่นของเมล็ดพันธุ์ที่มากับเศษอาหาร การนำพาของสัตว์เลี้ยง สัตว์ปีก และรวมถึงการพัดพามากับน้ำที่ท่วมเป็นครั้งคราว ส่วนการงอกและเติบโตของพืชผัก จากการปลูกของเจ้าของบ้านจะเป็นแหล่งอาหารที่จะช่วยลดการพึ่งพาจากภายนอกได้เป็นอย่างมาก

            มีการศึกษาทดลองปลูกพืชผักสวนครัวและเครื่องเทศในกระถางได้แล้ว และพบว่าสำหรับชีวิตคนเมืองที่มีที่ดินจำกัด หรือที่อาศัยอยู่ตามอาคารชุดต่างๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับประทานผักและเครื่องเทศจากการปลูกด้วยตนเองได้ด้วย หลายคนพบว่าการปลูกพืชผักในกระถางเป็นทั้งกิจกรรมที่ท้าทาย และน่าเพลิดเพลิน ผู้ที่สนใจเอาใจใส่บำรุงรักษาพืชผักบางชนิดจะพบว่าพืชผักกระถางเหล่านี้มีความงามไม่น้อยกว่าไม้ประดับราคาแพงอีกด้วย เนื่องจากได้ลงไม้ประดับไว้หมดแล้ว กรณีการปลูกไม้ประดับประเภทไม้ดอกจะมีโอกาสทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของดินและระบบนิเวศของดินมากกว่าการปลูกไม้ใบ เนื่องจากจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเร่งการเติบโตมากกว่าพืชไม้ใบและผู้ปลูกเองก็ต้องการเห็นการปลูกไม้ดอกนี้สัมฤทธิ์ผล จึงเร่งให้พืชที่ปลูกตอบสนองด้วยการใช้สารเคมีเร่งการเจริญเติบโต

            การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น นอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาอาหารจากภายนอก ยังช่วยลดการใช้น้ำลงอีกด้วย ไม้ยืนต้นและไม้ผลเป็นพืชที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อภาวการณ์การขาดน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือชุมชนที่มีปัญหาการขาดน้ำ เนื่องจากไม้ยืนต้นจะสามารถหยั่งรากลงไปถึงชั้นดินที่มีความชื้นตลอดทั้งปีได้

            จากปัญหาการพึ่งพิงแหล่งอาหารจากตลาดเกือบทั้งหมดในหลายพื้นที่ จะทำให้ครัวเรือนมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดน้อยลงตามลำดับ เป็นผลให้การครองชีพมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นและจะเป็นแรงผลักดันให้ครัวเรือนต้องเร่งหารายได้ให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการซื้อของตนเอง แนวทางดังกล่าวจะไม่ทำให้ภาวการณ์พึ่งพาตนเองด้านอาหารดีขึ้นได้เลย

            การพึ่งพาตนเองด้านอาหารที่ลดน้อยลง อาจได้รับการแก้ไขได้โดยการขยายโอกาสการปลูกพืชผักสวนครัวทุกขนาดทั้งในเขตเมืองและชนบท

ด้วยการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิด พันธุ์ วิธีปลูก คุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณทางยา การบริโภค การเก็บเกี่ยว และการใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาการปลูก ความต้องการแสงแดด น้ำ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อให้สมาชิกในนครัวเรือนเห็นคุณค่าและอยากทดลองปลูก ขยายพันธุ์ และบริโภคพืชผัก เครื่องเทศ และไม้ผลจากการปลูกของตนเอง อีกทั้งความเข้าใจที่เชื่อมโยงระหว่างการดูแลรักษาดินด้วยการปลูกพืชคลุมดิน จะทำให้ครัวเรือนใช้ที่ดินว่างเปล่าในการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างเต็มที่

            นอกจากนี้การให้ความเข้าใจและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคพืชผักและเครื่องเทศที่ได้จากการปลูกของตนเองจะทำให้ลดภาวการณ์วิตกกังวลจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการหาซื้อพืชผักจากตลาดที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมี และวัตถุมีพิษทางการเกษตรอีก

            ทางด้านผู้บริโภคเองควรเริ่มทดลองปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับครัวเรือนที่ยังไม่ได้เริ่มปลูกและสำหรับครัวเรือนที่ปลูกแล้วขยายผลด้วยการเพิ่มชนิดปลูก และส่งเสริมการบริโภคพืชผักที่ปลูกกันเอง ด้วยการแบ่งปันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งผลผลิต และพันธุ์พืชเพื่อให้ผู้สนใจได้เริ่มทดลองปลูกต่อไป