การงด–เลิก (Avoid)
เป็นการงดหรือเลิกการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และต่อระบบนิเวศ โดยจะต้องงด-เลิก ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย เช่น
- ใบมีดโกนหนวดชนิดที่ใช้แล้วทิ้งเลย
- ตะเกียบไม้ ช้อนพลาสติก
- โฟมสำหรับบรรจุอาหาร
- ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร
- ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น
- สารกำจัดแมลงทุกชนิด
- ยาฆ่าหญ้า สารเคมีผสมในผลิตภัณฑ์
- สีผสมอาหาร สารกันบูด
- เครื่องสำอาง
- น้ำยาทำความสะอาด
- ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ เช่น
- สเปรย์ทุกชนิดที่ใช้ CFC ช่วยเพิ่มแรงอัด
- น้ำยาดับเพลิง
- น้ำยาทำความสะอาดอุปกรณ์ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
- ปุ๋ยเคมี
- ยาฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืช
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่า หรือชิ้นส่วนของสัตว์ทุกชนิด เช่น
- กำไร ต่างหู หมวก กระเป๋า ที่ทำจากชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทุกชนิด
- เครื่องประดับบ้าน ปะการัง
- เครื่องราง
- กิจกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อม เช่น การถ่ายเทของเสียลงสู่ที่รองรับตามธรรมชาติได้แก่ แหล่งน้ำ อากาศ ดิน ซึ่งจะสามารถบำบัดและกำจัดได้ยาก
การลดปริมาณการใช้ (Reduce)
หากไม่สามารถเลิกการใช้หรือการบริโภคของบางอย่างได้เสียทีเดียว ก็พยายามลดใช้ให้น้อยลง ลดการบริโภคที่จะให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป รวมทั้งทรัพยากร ที่ทดแทนใหม่ได้บางชนิดก็ต้องลดการใช้ เนื่องจากทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งจะต้องหาทางลดปริมาณการบริโภค และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเหล่านี้
- ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น พลังงาน จากปิโตเลียมและถ่านหิน แร่ธาตุโลหะทุกชนิด
- ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้ซึ่งปัจจุบันมีการนำออกมาใช้อย่างรวดเร็ว และมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะทดแทนใหม่ได้ทัน จึงควรลดการใช้ลง เช่น ไม้ พืชพันธุ์ สัตว์ ชิ้นส่วนของสัตว์ทุกชนิด
- ผลิตภัณฑ์ที่เมื่อนำมาใช้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศยากต่อการทำลาย มีการใช้ อย่างแพร่หลาย และไม่อาจงดหรือเลิกได้โดยทันที แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมได้ เช่น การใช้ภาชนะบรรจุหีบห่อ ที่เป็นพลาสติกทุกชนิด ได้แก่ ขวดชมพู ซองพลาสติก กล่อง ตลับพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้น แต่จะตกค้างในสภาวะแวดล้อม เป็นเวลานาน
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานมาก และอาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง แต่มีการทิ้งและใช้อย่างไม่คุ้มค่า การถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อมจะไม่ย่อยสลายได้โดยง่าย และในขบวนการผลิตยังทำให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรป่าไม้ในระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว เช่น กระดาษทุกชนิด ซึ่งจะต้องลดปริมาณการใช้ และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ ทุกขั้นตอน
การใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก (Reuse)
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคอย่างเหมาะสม เพื่อลด การร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่ และลดการปล่อยมลพิษลงสู่สภาพแวดล้อม โดยวิธีการนำทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ลักษณะเดิม ไม่มีการแปรเปลี่ยนรูปทรง เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงานที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย ทุกขั้นตอนก่อนถึงมือผู้บริโภค เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะเร็วเกินไป ผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ซ้ำได้แก่
- เสื้อผ้าทุกชนิด อาจเพิ่มประโยชน์การใช้สอยได้มากขึ้น โดยการลดการทิ้งด้วยการจำหน่าย เป็นของใช้แล้ว หรือบริจาคให้ผู้ขาดแคลน หรือนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่นๆ
- ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยแก้วบางชนิด ซึ่งขั้นตอนการผลิตต้องใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบ จำนวนมากและใช้พลังงานปริมาณมาก โดยสนับสนุนให้มีการนำขวดหรือภาชนะเหล่านี้ กลับมาใช้อีก รวมทั้งภาชนะหีบห่ออื่นๆ เช่น ลังพลาสติก ลังพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ทุกชนิด หนังสือ และอื่นๆ
การใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม (Refill)
เป็นนิยมในวงกว้าง เพราะนอกจากจะราคาถูกแล้ว ยังเป็นการลดบรรจุภัณฑ์หีบห่อในส่วนที่เป็นขยะภายในบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนในการใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิต สินค้าที่นิยมผลิตเป็นชนิดเติมส่วนใหญ่ เป็นสินค้าที่ใช้ในบ้าน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่เหลว รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปหลายชนิด
Recycle หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ผลิตภัณฑ์บางชนิดแม้จะมีความคงทน แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้น มีปริมาณการใช้มาก ทำให้หมดเปลืองทรัพยากรและพลังงานอย่างรวดเร็ว จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้อย่างระมัดระวัง และให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดปริมาณของเสียที่จะถ่ายเทลงสู่สภาพแวดล้อม และเมื่อเลิกใช้แล้ว ควรจะมีการจัดการเพื่อนำเอาทรัพยากรที่ครั้งหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หมุนเวียนกลับมา ใช้ใหม่ จึงต้องผ่านกระบวนการหลอมละลาย บด อัด ฯลฯ