ชื่อไทย                         พฤกษ์ (ตะคึก)

ชื่อท้องถิ่น                กรีด / กะซึก / กาแซ, แกร๊ะ, กาไพ / ก้านฮุ้ง / ก้ามปู / คางฮุง / จ๊าขาม / จามจุรี / จามรี,ซึก / ชุงรุ้ง / ตุ๊ด / ถ่อนนา / พญากะบุก / มะขามโคก  / มะรุมป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์          Albizia lebbeck (L.) Benth.

ชื่อวงศ์                    FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 25 เมตร ทรงพุ่มรูปร่มแผ่กว้าง เปลือกขรุขระ สีเทาเข้ม และแตกเป็นร่อง

ลักษณะใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงสลับ ใบย่อย 2-5 คู่ รูปไข่กลับ ขนาด 1-3 x 3-5 เซนติเมตร ปลายใบกลม โคนใบสอบเบี้ยว ใบดกหนา เวลาเย็นใบจะหุบลง พอตอนเช้าจะแผ่ออกตามเดิม

ลักษณะดอก เป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกรวมกันในซอกใบใกล้ปลายใบ สีขาวอมเขียว กลิ่นหอม ก้านเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เป็นเส้นฝอยและเป็นพู่ โคนสีเขียว ปลายเกสรสีขาวอมเหลือง ซึ่งช่อๆ หนึ่ง มี 2-4 ช่อย่อย มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงเช้า

ลักษณะผล ฝักแบนยาว บาง ผิวเกลี้ยง สีทอง เมล็ดแบนยาว มี 4-12 เมล็ด

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกมีนาคม – เมษายน เป็นฝักกันยายน – ธันวาคม

เขตการกระจายพันธุ์  

            พบในทวีปแอฟริกา และเอเชียเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือพื้นที่เสื่อมโทรม ทั่วทุกภาค

การใช้ประโยชน์        

ยอดอ่อน ช่อดอกอ่อน และฝักอ่อน : กินเป็นผักสด ต้มกินกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัดต่าง ๆ หรือใส่ในแกงเลียง ยอดอ่อนมีรสมัน ช่วยเจริญอาหาร

เนื้อไม้ : แข็ง มีลายสวยงาม นิยมใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องมือทางการเกษตร

เปลือก : ให้น้ำฝาด ใช้ฟอกหนัง รักษาแผลในปาก ลำคอ เหงือก

ใบ : ดับพิษร้อนทำให้เย็น เมล็ด รักษาโรคผิวหนัง

แหล่งข้อมูล :   อุทยานหลวงราชพฤกษ์ / ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์