ชื่อไทย                     ยูคาลิปตัส

ชื่อท้องถิ่น                โกฐจุฬารส น้ำมันเขียว มันเขียว ยูคาลิป (ไทย), อันเยี๊ยะ หนานอัน (จีนกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์        Eucalyptus globulus Labill.

ชื่อวงศ์                    MYRTACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ค่อนข้างกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกหุ้มลำต้น มีลักษณะเรียบเป็นมัน มีสีเทาสลับสีขาวและน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่นหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งจะลอกออกได้ง่ายในขณะสด

ลักษณะใบ ใบเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) เรียงสลับ เป็นรูปหอก ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อนหม่นๆ ทั้งสองด้าน ใบห้อยลง เส้นใบมองเห็นได้ชัด

ลักษณะดอก ดอกออกเป็นช่อ ตามข้อต่อระหว่างกิ่งกับใบ มีก้านดอกเรียวยาว มีก้านย่อยแยกไปอีก

ลักษณะผล ผลมีลักษณะครึ่งวงกลมหรือรูปถ้วย ผิวนอกแข็ง เมื่ออ่อนจะมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเกือบตลอดปี

เขตการกระจายพันธุ์

ทวีปออสเตรเลีย เกาะแทสเมเนีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะมินดาเนา เซลีเบส ปาปัวนิวกินี ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีน้ำขังในเขตร้อน

การใช้ประโยชน์

ไม้ใช้สอย เฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน ทำรั้ว ทำคอกปศุสัตว์ทำเสา ใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ไม้ยูคาลิปตัส สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนได้ แต่ควรได้ทำการอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้ไว้ก่อนก็จะยืดอายุการใช้งานได้นาน

กระดาษ จากการประเมินเยื่อไม้ยูคาลิปตัส 4-5 ตัน ผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน เยื่อไม้ยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ ทำกระดาษพิมพ์เขียว ประเภทต่างๆ

ข้อควรระวัง

ต้นยูคาลิปตัส เป็นพืชที่ใช้น้ำในดินปริมาณมากสำหรับการเจริญเติบโต จึงมีการศึกษาในเรื่องนี้เพื่อดูการใช้น้ำในการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ พบว่าระบบรากของยูคาลิปตัสสามารถที่จะชอนไชไปดึงน้ำที่ถูกเก็บไว้ใต้ดินหรือตามซอกหินมาใช้ได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น การศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลยืนยันว่า ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่มีระบบรากและระบบการดูดซึมน้ำที่ดี ซึ่งจากข้อได้เปรียบในเรื่องที่มันเป็นพืชที่มีความสามารถในการดำรงชีวิตในเขตแห้งแล้ง จึงเป็นข้อควรระวังในการนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ที่มีพืชประจำถิ่นอยู่ เพราะจะทำให้พืชประจำถิ่นไม่สามารถแข่งขันได้และตายไปในที่สุด

ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของการสลายตัวของใบยูคาลิปตัสและการเปลี่ยนแปลงของธาตุอาหารพืช ได้แก่ โพแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน พบว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างยูคาลิปตัส ทำให้สมดุลของธาตุอาหารพืชในดินเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดินก็มีแนวโน้มลดลง แล้วยังมีผลต่อจำนวนและชนิดของแมลงที่อาศัยกับพืชน้ำโดยรอบสวนป่ายูคาลิปตัสด้วยเมื่อศึกษาเทียบกับป่าธรรมชาติ  ส่งผลให้คุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลงไปในที่สุด

แหล่งข้อมูล : คลังความรู้ SciMath. และสวนพฤกษศาสตร์ระยอง

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *