ชื่อไทย เพกา (Midnight horror, Indian trumpet flower)
ชื่อท้องถิ่น มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ) ลิ้นฟ้า (เลย ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Benth. ex Kurz
วงศ์ BIGNONIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น เนื้ออ่อน ขนาดเล็ก สูง 5 – 12 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอด ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้น เปลือกในสีเหลือง แตกกิ่งก้านน้อย
ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายใบคี่ ใบมีขนาดใหญ่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4 – 5 เซนติเมตร ยาว 6 – 12 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม โคนใบสอบเรียว หรือมน ขอบใบเรียบ หรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลม
ลักษณะดอก ช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ก้านชูช่อดอกยาว ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 – 9 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ และมีสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ติดคงทนจนเป็นผล กลีบดอกสีแดงเลือดหมู 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแยกเป็นรูปปากเปิด เนื้อกลีบพับย่น เกสรเพศผู้มี 5 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน เป็นหมัน 1 อัน ติดบนหลอดกลีบดอกด้านใน เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ
ลักษณะผล ผลแก่แล้วแตกสองแนว รูปเรียว ยาว ลักษณะคล้ายดาบขนาดใหญ่ กว้าง 8 – 12 เซนติเมตร ยาว 40 – 60 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดสีขาว แบน มีปีกบาง
ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม ติดผลประมาณเดือนสิงหาคม
เขตการกระจายพันธุ์
ในประเทศไทยมีการกระจายพบขึ้นได้ทั่วไป บริเวณ ชายป่าดิบ ที่โล่งและไร่ร้าง ที่ระดับต่ำจนถึงความสูง 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์
ราก: มีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร เจริญอาหาร แก้ท้องร่วง
แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต รากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการอักเสบ ฟกบวม
ใบ: สามารถนำมารับประทานได้
ฝักอ่อน: รับประทานเป็นผัก ช่วยในการขับลม บำรุงธาตุ
เมล็ด: ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0001″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นเพกา”]