วันโลกแตก วันสิ้นโลกหายนะของโลกมาถึงแล้ว ฟังดูน่ากลัวน่าตกใจไม่น้อย น้ำท่วมโลก  สึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุรุนแรง ภาพผู้คนล้มตายเป็นแสนเป็นล้าน จินตนาการของผู้คนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น แต่หลังจากปิดทีวีเมื่อรายการเจาะใจจบลง ผศ.ดร. จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนที่มาออกรายการได้ทิ้งมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ “โลกแตก” แท้จริงแล้วไม่ต้องรอมหันตภัยใหญ่หลวง เรื่องเล็กๆ ก็รุนแรงได้อย่างมหาศาลเพราะโลกเราร้อนขึ้นทุกวัน-เดือน-ปี

 ภาวะโลกร้อนที่คนทั่วไปจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจแบบง่ายๆคืออะไร

“เราก็รู้ดีอยู่ว่าตอนนี้อากาศในบ้านเราไม่ปกติ มันแปรปรวนค่อนข้างมากในหน้าร้อนจะร้อนมาก ในหน้าหนาวก็จะสั้นลง เหตุผลที่มันร้อน เพราะว่าแสงแดดที่ออกความร้อนมาจากดวงอาทิตย์ทำให้หลังคาบ้านเราร้อน ทำให้พื้นคอนกรีตร้อน สิ่งที่ร้อนเหล่านี้ก็พยายามระบายความร้อนออกไปในอากาศแล้วขึ้นไปข้างบนและออกไปนอกโลก แต่ปรากฎว่าออกไปไม่ได้มันคล้ายว่าที่ชั้นบรรยากาศมันมีแก๊สลอยอยู่ มันบล๊อก บล๊อกความร้อนไม่ให้ออกจากหลังคาบ้านจากที่อื่นๆออกไปได้ ฉะนั้น เมื่อมันมีตัวบล๊อกอยู่ ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าทำไมเขาเข้ามาไม่กันไว้หละ เพื่อที่เราจะไม่ร้อน

ก็เพราะว่าขาเข้ามาจากดวงอาทิตย์มันมาอีกแบบ มันเป็นรังสีชนิดหนึ่งคนละรูปแบบกัน รังสีอัลตราไวโอเลตไม่มีอะไรบล๊อกได้ พอมันลงมามันก็ผ่านก๊าซที่รองอยู่บนชั้นบรรยากาศแต่พอมันมาถึงพื้นโลกเรา มันระบายความร้อนของมันออกมาอีกครั้งหนึ่ง มันเป็นการแผ่รังสีความร้อนทิ่เป็นอินฟาเรด อินฟาเรดนี่มันไม่มีการทะลุทะลวงดีเท่ากับอัลตราไวโอเลต จนถึง 12-15 กิโลเมตร มันก็ติดอยู่ตรงนี้สมมติเราไม่ได้ใช้พลังงานก็ไม่เป็นไร แต่เราใช้ทั้งวันสิ่งที่เราใช้พลังงานก็ไปเพิ่มแก๊ส แล้วแสงแดดมันก็ไม่ได้มาเฉพาะกรุงเทพฯ มันมาจากทุกที่ แล้วแผ่รังสีความร้อนขึ้นไปมันก็ติดอีก ติดอยู่ชั้น12 มันก็วนๆ เราก็เลยรู้สึกร้อนมาก พอร้อนมากก็ทำให้เราเข้าไปอยู่ห้องปรับอากาศ เราก็ใช้ไฟฟ้า พอเครื่องปรับอากาศทำงานไฟฟ้าก็มาจากเราเผาถ่านเอาความร้อนไปต้มน้ำแล้วผลิตกระแสไฟฟ้าให้เรา พอเราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นก๊าซก็ลอยขึ้นไปสะสมอีก เราร้อน เราก็วิ่งขึ้นมาห้องแอร์อีก มันก็ยิ่งทำให้แย่เข้าไปกันใหญ่ ตรงนี้คือประเด็นที่สำคัญที่ว่า เราทุกคนที่มีชีวิตและเสียบปลั๊กเป็น มีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกมันร้อนขึ้น”

 เหตุการณ์หรือภัยพิบัติอะไรที่กำลังจะเข้ามาในระยะเวลาอันใกล้นี้

“ความแปรปรวนต่างๆ นี่ไง การสะสมความร้อนนี่มันเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของภาวะครับ   อย่างปีนี้เรามีดีเปรสชั่นเข้ามาเร็วมาก ในเดือนเมษา ปกติมาเดือนพฤษภานี่ยังไม่ถึงแค่เริ่มต้นฤดูฝนแล้วไม่แน่ใจว่าจะยาวไปถึงเดือนตุลาหรือเปล่า เราก็จะได้รับผลกระทบแล้วจะอ้างว่าไม่รับรู้ไม่ได้เมื่อมาถึงนี่แล้ว”

 มันจะเห็นภาพชัดเจนอย่างสึนามิอะไรอย่างนี้ใช่ไหม

“สึนามิมันง่ายนี่ มันมา 10 นาที 2 นาที มันก็ไปมันหายไปเลยถูกไหม แต่ว่าอันนี้เรื่องภาวะโลกร้อนมันแย่กว่านั้น คือ มันมาแล้วอยู่นานหลายปีผ่านไปแล้วก็ยังอยู่ปีหน้าก็ยังอยู่”

 ถ้านี่ คือ โรคชนิดหนึ่งเราจะใช้ยารักษาได้ไหม

“ไม่ๆ ไม่มีทาง อันนี้จะอยู่นานเลย เช่นน้ำทะเลที่สูงขึ้น มันก็จะสูงขึ้นอย่างนั้นโอกาสที่จะไปอยู่เท่าเดิมยาก เพราะที่มันสูงขึ้นนี่เพราะน้ำแข็งขั้วโลกมันละลายก็ทำให้น้ำทะเลมีเยอะ แล้วก็ละลายมาต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมาน้ำแข็งก้อนมหึมาเท่ากับสนามฟุตบอล 11,000 กว่าสนาม หลุดมาจากขั้วโลกใต้ แล้วตอนนี้ละลายจมลงไปในทะเลแล้ว น้ำแข็งก้อนมหึมาละลายลงในทะเลมันก็มีส่วนทำน้ำทะเลแรงด้วย ถ้าถามว่าตอนนี้ละลายหรือยัง ละลายแล้วขั้วโลกเหนือก็ละลายแล้ว”

 มนุษย์จะแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ได้ไหม

“คงเป็นเรื่องที่ยากนะ ถ้าสมมติว่าคน 50 คน พร้อมใจกันแก้นี่ ต้องถามว่าคนใช้พลังงานกี่คนประเทศไทยมีคน 63 ล้านคน เอา 50 คนมาแก้มันเป็นไปได้ แล้วคนอีก 6,000 ล้านคนทั่วโลกเขาจะยอมไหม สมมติบอกว่าปิดไฟ ไม่ใช้รถ เขาก็จะถามว่าปิดไฟบ้านใครก่อน แล้วรถใครจอดที่บ้านก่อน ทุกคนไม่ยอมรับหรอก แล้วถามว่าแก้ได้ไหมคำตอบ คือ แก้ไม่ได้”

 แล้วต้องทำอย่างไร

“ก็เตรียมรับและปรับตัว ในเมื่อแก้ไม่ได้ก็ต้องเตรียมรับว่าภาวะอากาศ อย่างโอกาสเจอฝนนี่แทนที่จะกลับบ้านค่ำเป็นกลับบ้านดึก เพราะฝนตกน้ำท่วมรถก็จะติด แค่ระยะทาง 5 กม. นี่อาจใช้เวลา 20 นาที มันก็อาจจะเป็นชั่วโมงกว่า เกิดความเสียหายในรถที่แช่น้ำถูกไหม เคย shopping สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ที่ห้างก็มา shopping ใกล้บ้าน ลดการใช้ไฟฟ้าลดการใช้น้ำมัน นี่เป็นการปรับตัว เคยปลูกแต่เฟื่องฟ้า โกศล ก็มาปลูกมะเขือ ปลูกพริก เพื่อจะลดจำนวนครั้งที่ต้องขับรถไปซื้อพริก ต้องคิดใหม่ให้มันสอดคล้องกับความจำเป็นนี่ คือ การปรับตัว”

 เรียกว่าลืมการใช้ชีวิตแบบศิวิไลซ์แบบบริโภคนิยมไปได้เลย

“มันต้องกลับมาสู่ชีวิตพอเพียง พออยู่ พอใช้ ประคองตัวเอง แต่ว่าถึงแม้จะประคองตัวเองก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะพ้นจากภาวะ คือ ไม่พ้นมันก็เกิดอยู่ดี แล้วเราก็ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง เวลาอากาศมันเปลี่ยนแปลงฝนตก เราจะได้ไม่เป็นหวัดง่าย ซึ่งบางคนก็ทนไม่ไหวก็ป่วยเป็นหวัด ไปทำงานไม่ได้ส่งลูกไปโรงเรียนไม่ได้ ใครที่อ้วนก็ทำให้มันผอมลง แล้วก็มีสุขภาพดีขึ้นแข็งแรงขึ้น ไม่มีใครว่าอะไรถ้าอยากกิน แต่คนพวกนี้จะช่วยตัวเองลำบาก เมื่อเกิดภัยพิบัติ”

 อาจารย์กังวลเรื่องอะไรบ้างตอนนี้

“เออ น้ำท่วมมาแน่นอน และต่อมาก็ คือ โรคระบาดที่มาจากอากาศร้อน เมื่อก่อนนี้ไข้เลือดออกมา 2-3 ปี เป็นครั้ง นี่เป็นทุกปีเลย เดี๋ยวนี้เป็นได้ทุกเดือนทั้งปีเลยเห็นไหม แล้วเป็นครั้งหนึ่งมีโอกาสตายนะ มีไข้ต่ำ 4-5 วัน รักษาไม่ทันก็ตายแล้ว แต่ละปีมีคนตายด้วยไข้เลือดออกเยอะมาก แล้วยังมีโรคอื่นๆ ที่กลับมาใหม่ อย่าง มาลาเรียโรคร้ายอื่นๆ อีก โรคฉี่หนู เวลาน้ำท่วม หรือ อหิวาตกโรคเวลาอากาศร้อนมากๆ โอกาสที่จะแพร่ระบาดมันมากขึ้น”

 อาจารย์พบข้อมูลหรืองานวิจัยอะไรที่น่าตกใจเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

“ก็มีตลอดเวลา เรื่องการวิจัยเราพบว่า มีฝูงค้างคาวที่อาศัยอยู่สุมาตรา พอเกิดไฟป่ามันก็หนีแล้วมันก็ทำให้คนที่มาเลเซียตายทำให้คนที่บังคลาเทศตาย ตอนนี้มันมาพักอยู่ที่ในบ้านเรามันหนีมาจากสุมาตราหนีร้อนมา แล้วบ้านเรามันไม่มีไฟไหม้เยอะขนาดนั้น ค้างคาวก็มาฉี่บ้างมากินผลไม้สุกบ้าง เราก็เอาผลไม้ที่มีรอยช้ำนิดหน่อยปาดทิ้งไป เอามากินมันก็มีไวรัสอยู่รับไวรัสเต็มที่ก็ไม่สบาย”

 หมายความว่าโรคระบาดตอนนี้เชื่อมถึงกันหมดทั่วโลก

“ใช่ แต่เหตุการณ์นี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ว่าสัตว์ในที่ตรงนั้น มันก็จะหนีอพยพมาอยู่ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ไปสุมาตรา แต่โรคร้ายจากสุมาตราก็มาถึงเราได้ สิ่งที่น่ากลัวก็ คือ เรื่องของโรคระบาดในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อย เขาก็มีโอกาสเสี่ยงได้”

 แสดงว่าโลกเหมือนครอบครัวเดียวกันแล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างจริงจัง

“มันก็ถึงกันหมด ตอนนี้ประเทศไทยอ้างว่าเป็นประเทศเล็กๆ เราใช้ไฟฟ้าน้อย ใช้ลิกไนต์น้อย ใช้ถ่านหินน้อย แต่เวลาเกิดผลกระทบมันไม่ได้น้อยตามส่วน ถึงแม้ใช้น้อยก็โดนเต็มๆเหมือนกันหมดแล้วที่เราแย่กว่าคนยุโรป  คือ เครื่องมือในการกู้ภัย เราแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าเขา อย่างปัญหาเท่ากัน แต่เขาเสียหายน้อยกว่า ที่เราเสียหายหนักเพราะอะไร เรามีรถกู้ภัยไม่เพียงพอ ฝนตกมานี่ทำไงครับ สั่งเตรียมถุงยังชีพและเอาปลากระป๋องไปแจก ถามว่าความเสียหายบ้านเรือนเนี่ย มันป้องกันได้ทำไมไม่ทำ”

 ทางทวีปยุโรปมีการรณรงค์เรื่องนี้มากขนาดไหน

“ยุโรปเขาทำก่อนเราเป็น 10 ปีแล้ว บ้านเรายังช้าอยู่ เพราะว่าสื่อยังไม่ให้ความสนใจ จริงๆ คนกับองค์ความรู้มันเชื่อมกันด้วยสื่อ สื่อเขาไปทำเรื่องอื่น เรื่องนี้พูดกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ถ้าเราต้องซื้อสื่อเองก็ทำไม่ไหว เราก็ทำได้คือค้นคว้าความรู้ ซึ่งการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกมันก็ทำได้ยาก เช่น ปิดไฟถวายในหลวง เราทำได้เพราะเรามีศูนย์รวมใจคือในหลวง แต่คนยุโรปเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่มีกษัตริย์ไม่มีศูนย์รวมใจแนบแน่นแบบเรา”

 การช่วยกันปลูกต้นไม้เหมือนที่ตอนเด็กๆ คุณครูเคยสอนมันก็ยังจะช่วยได้อีกหรือไม่ ?

“ไม่ทัน แต่ก็ควรจะทำ ไม่ใช่ว่าปลูกต้นไม้แล้วเราก็กลับไปใช้พลังงานเหมือนเดิม ถามว่า รถยนต์ดีโฟร์ดี เขาโฆษณาวิ่งได้ 38 กม./ลิตร เราก็ไปอ้อนวอนหาเงินมาซื้อ ไปกู้เงินด้วยความประทับใจว่ามันวิ่งได้ประหยัด แต่ความจริงเราขับที่ 100-120 หนึ่งลิตรก็วิ่งได้แค่ 5 กม. เพราะที่เขาโฆษณามันวิ่งที่ 57 กม./ชม. เราก็ขับไม่ได้ มันหลอกตัวเองใช่ไหม”

 ในเรื่องของการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น อาจารย์อยากให้คนใส่ใจอะไรมากที่สุด

“ป้องกันไม่ได้เลยตอนนี้ไม่ทันแล้ว พูดไปแล้วเดี๋ยวจะหาว่าพูดเล่น ทำบุญเยอะๆ เราหยุดไม่ได้แล้วตอนนี้ มันจุดแล้วมันเกิดขึ้นแล้วมันลอยตัวขึ้นไปถึงชั้น 13 กม. มีอีกมหาศาลซึ่งเราดึงไม่อยู่แล้ว ดึงกลับมาไม่ได้เพราะสตาร์ตรถยนต์ไปแล้ว มันไม่ใช่สตาร์ตตอนนี้ปุ๊บ คืนนี้ไปอยู่ที่ชั้นที่ 13 กม. มันต้องใช้เวลาขึ้นไปนานพอสมควร แค่ยังอยู่ข้างบนยังไม่เดินทางมาถึงยังเดือดร้อนขนาดนี้ แล้วไอ้ที่ยังเดินทางไม่ถึงที่จะไปสมทบอีกจะแค่ไหน แล้วที่ผมถามคุณว่าเมื่อขอให้ทุกคนลดการใช้พลังงานลงมา เขาต้องถามว่าอันไหนลดก่อน ความหวังไม่มีเลย ลดการใช้ลงมา ถามว่ารถคันไหนควรจอดรถก่อน ไม่มีใครยอม ถึงบอกว่าตอนนี้ทำบุญดีที่สุด ข้อเสนอแนะก็ คือ ต้องเตรียมรับและปรับตัว    เตรียมรับ ก็ คือว่าเรารู้ว่าตรงไหนมันต่ำ ก็เตรียมตัวกันน้ำที่จะมาท่วม ตรงไหนที่อยู่ชายป่าก็ระวังไฟป่ามันจะลงมาทำแนวกันไฟซะ ลมจะได้เย็น เอาของในบ้านไปทิ้งบ้าง สัมภาระทั้งหลายแหล่ มันก็จะทำให้บ้านโปร่งและเย็นสบายนี่เป็นการปรับตัว”

 เหมือนอยู่บ้านไทยที่อาจารย์เคยแนะนำ

“คือเราสร้างกันผิดๆ บ้านสมัยใหม่สร้างเพื่อที่จะแก้ปัญหา แต่บ้านของ ปู่ ย่า ตา ยาย นี่สร้างมาเป็นบ้านไทย เพื่อป้องกันปัญหา อย่างเช่น หลังคาบ้านไทยนี่จะไม่รับความร้อน สร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้หลังคานี่มันปล่อยความร้อนเข้ามาในบ้าน นี่เป็นการป้องกันปัญหา”

 แต่จะสร้างบ้านไทยก็ต้องใช้ทุนสูงในปัจจุบันจะเป็นไปได้ขนาดไหน

“ไม่จริงหรอก เราไม่ได้หมายความว่าให้ไปสร้าง หาไม้มาสร้าง คือ สร้างตึกธรรมดานี่แหละแต่เอารูปทรงเขามา เอารูปทรง คือ เอาหลังคาที่หน้าจั่วหน่อยมาถูกไหม เอาชายคาที่แผงยื่นมา แต่ทุกวันนี้เขาไม่เอานี่ เขาไปเอาบ้านทรงแคลิฟอร์เนียมาใช้ เขาไปเอาบ้านทรงโรมันมา ถามว่านี่บ้านไทยหรือเปล่าไม่ใช่ มันเป็นทรงสเปนมันไม่มีชายคา หลังคามาเจอผนังก็หมดเลย เขาสร้างเพื่อที่จะรับความร้อน เจ้าของบ้านจะได้ไม่เปิดเครื่องทำความร้อนในสเปน เราก็ไปเอาบ้านทรงสเปนมาปลูกที่กรุงเทพฯ แถวบางบัวทอง มันก็ได้รับความร้อน มันก็แผ่รังสีให้ทุกคน การสร้างบ้านไทยประยุกต์ไม่ต้องเป็นไม้นี่เป็นเหล็กก็ได้หลังคาเหล็กก็ได้ เราไม่ได้บอกว่าบ้านทรงไทยต้องเป็นไม้สัก แบบนั้นไม่ใช่เลย ไม่เคยพูดกันอย่างนั้นเลย เพียงแต่ว่าไปพูดตีความกันเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นบ้านไทยแน่นอนเลยในสมัยดั้งเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำได้เพียงแต่ว่าปรับตัวตามยุคสมัย”

 วิถีแบบคนไทยโบราณที่คิดว่าน่าจะนำมาใช้ได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้

“คือเขาทำกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ การกักเก็บน้ำไว้ใช้ที่บ้าน เช่น น้ำฝนที่เขาเก็บไว้ใช้สำรองไว้ที่บ้าน เรื่องของวิถีไทยก็คือ ใช้ผ้าไทยใช้เสื้อผ้าที่เป็นผ้าฝ้ายเบาๆ สบายๆ ไม่ใช่อยู่เมืองไทยแล้วใส่แจ๊กเกต มันไม่ใช่ไทย ใส่เนคไทใส่แจ๊กเกต ก็ต้องเปิดแอร์ให้เย็น ถึงจะอยู่ได้ใช่ไหม วิถีไทยถ่ายทอดส่งมอบให้เรามา เราไม่เอา เราไปเอาวิถีฝรั่งตะวันตก ซึ่งมันก็เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วนะที่ผูกเนคไทใส่สูท มันเป็นเรื่องที่รู้สึกสากล  สากลแน่นอนถ้าอยู่ในยุโรปเพราะอากาศมันหนาว ที่ติดกระดุมเพราะว่าไม่ให้ความเย็นมันเข้าไปข้างใน”

 ถ้าวาระสุดท้ายของเราและโลกใกล้เข้ามาแล้วจริงๆ อาจารย์อยากจะบอกกับผู้อ่านว่าอย่างไร ?

“เตรียมพร้อม เตรียมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น พยายามลดการใช้พลังงานให้น้อยลง ลืมสังคมแบบไฮโซศิวิไลซ์ไปได้เลย มันจบแล้ว เราจะทำไปเพื่ออะไรทำเงินเก็บเงินเพื่อที่จะเอาไปใส่ลิ้นชักหมอเพราะโรคภัยมันมีมากขึ้นทุกวัน ทำงานหนักเลยนะ กำเงินอยู่ในมือนี่เหงื่อชุ่มเลย แล้วก็เอาไปให้หมอ หมอเองก็ไม่อยากได้หรอกเงินของเราน่ะ หมอเองก็ต้องรักษาตัวเองเหมือนกัน เพราะหมอก็ต้องเจอกับภาวะเดียวกันเจอโรคภัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นเตรียมพร้อมให้มากที่สุด มันจบแล้วสำหรับโลกศิวิไลซ์ ต่อไปนี้คือการย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบวิถีดั้งเดิม อยู่แบบพอเพียงลดการใช้พลังงานควบคู่กันไป เพราะตอนนี้มันนับถอยหลังแล้วนะครับ”

   น้ำท่วมโลก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ผู้คนล้มตายเป็นแสนเป็นล้าน จินตนาการแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะภาระผูกพันในแต่ละคนยังไม่สิ้นสุด และหากวาระสุดท้ายมาถึงแล้วจริงๆ ขออวยพรให้เรามนุษย์โลก…มีความทรงจำในความดีงามติดตามไปบ้าง….


เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์

ผศ.ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม