เปิดโลกรู้รอบเรื่องพลาสติก : จากต้นกำเนิดสู่การจัดการ

ตอนที่ 1 : ประวัติความเป็นมาของพลาสติก

ตอนที่ 2 : กว่าจะมาเป็นพลาสติก

ตอนที่ 3 : ประเภทของพลาสติก

ตอนที่ 4 : การใช้พลาสติกในประเทศ

ตอนที่ 5 : ขยะพลาสติกล้นโลก

ตอนที่ 6 : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์จากการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีต่างๆ

ตอนที่ 7 : ใช้พลาสติกอย่างไรไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม


 

  1. ใช้พลาสติกอย่างไร ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

7.1 การหลีกเลี่ยง (Avoid) พลาสติก

เนื่องจากพลาสติกมีหลากหลายรูปแบบ และถูกออกแบบมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ มีสินค้าที่อยู่ในรูปของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีสีสัน รูปทรงสวยงามและรูปแบบที่หลากหลาย สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อให้ตัดสินใจได้ไม่ยาก จนเป็นต้นเหตุให้เกิดการบริโภคโดยขาดสติ ขาดการยั้งคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง อันตรายต่อผู้อื่น หรือเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่

กล่องโฟมบรรจุอาหาร

ผลิตภัณฑ์ประเภทโฟมทุกชนิดควรหลีกเลี่ยงเพราะ สามารถใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ หากนำไปฝัง สารเคมีจากโฟมจะทำให้คุณภาพดินต่ำลง  และหากนำไปเผาจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

 

ช้อน ส้อม พลาสติก

ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภท ช้อน ส้อม ถือเป็นผลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่วนใหญ่จะไม่นำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง ทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดการพลาสติกปลายทางได้

 

 

แก้วพลาสติก

แก้วพลาสติกถือเป็นผลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะจะเกิดการฉีกขาด หรือเสียสภาพ ถือเป็นขยะที่ยากต่อการจัดการ ควรหลีกเลี่ยงโดยการพกพาภาชนะแก้วน้ำส่วนตัวที่สะอาดและสามารถใช้ซ้ำหลายครั้งได้

 
หลอดกาแฟ
หลอดกาแฟถือเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ควรหลีกเลี่ยง หากมีแก้วน้ำส่วนตัวก็ไม่จำเป็นต้องใช้หลอดกาแฟอีกต่อไป
 
ถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกถือเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นขยะมากที่สุด ควรหลีกเลี่ยง โดยการใช้ถุงผ้าสำหรับซื้อของในห้างร้านหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ

 

7.2 การลดใช้ (Reduce) พลาสติก

ปัจจุบันมนุษย์ใช้พลาสติกเกินความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากมีแนวโน้มการใช้ที่มากขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาทรัพยากรที่นำมาผลิต โดยเฉพาะปิโตรเลียมซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจากการวิจัยพบว่า ถุงพลาสติกหนัก 1 ตัน ต้องใช้น้ำมันดิบถึง 1,749 ลิตร และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ปัญหาในการจัดการขยะพลาสติกโดยเฉพาะจัดการถุงพลาสติกที่ยังไม่สามารถทำได้ดีนัก ในปัจจุบัน ทำให้มีการแพร่กระจายถุงพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ และได้เป็นสาเหตุการตายของสัตว์น้ำจำนวนมาก และนับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการการลดใช้พลาสติก ถือเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการลดปริมาณขยะพลาสติก และสามารถลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ผู้ใช้ควรมีการตระหนักโดยการลดปริมาณการใช้ และควรใช้ให้คุ้มค่าทุกครั้ง

7.3 การใช้ซ้ำ (Reused)

            การนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งถือเป็นแนวทางที่สามารถลดปัญหาที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในแต่ละวันเราใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก เช่น ขวดน้ำดื่มพลาสติก ถุงพลาสติกชนิดต่างๆ พลาสติกเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เป็นปัญหาต่อการจัดการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว การใช้ซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์เดิม หรือมีการดัดแปลง ปรับปรุง เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น จึงควรระมัดระวังในเรื่องของความปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีที่อาจสลายออกมาจากตัวบรรจุภัณฑ์เอง รวมทั้งระมัดระวังในเรื่องความสะอาด เนื่องจากเมื่อทำการเปิด หรือฉีกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้แล้ว มักจะมีถูกปนเปื้อนโดยเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ปริมาณเชื้อเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดโรคต่างๆได้ โดยผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว มีแบคทีเรียประเภทโคลิฟอร์มปนเปื้อนมากถึงร้อยละ 65 ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้เป็นเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใส่อาหารอีกครั้ง จะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้กับอาหารและเครื่องดื่ม (Food Grade) เท่านั้นโดยคำนึงถึงประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมดังนี้

  • เป็นภาชนะที่มีปากกว้าง ทำความสะอาดง่าย สามารถใช้บรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิปกติ หรือแช่เย็น แช่แข็งได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรใส่อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด
  • ภาชนะประเภทพลาสติกที่มีลักษณะ คอแคบผิวขรุขระ หรือมีเหลี่ยมมุมมาก หากคิดจะใช้ซ้ำกับอาหารและเครื่องดื่ม ควรมั่นใจได้ว่าได้ทำความสะอาดเป็นอย่างดี จนปลอดเชื้อ
  • ถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหารรวมถึงฟิล์มยืดปิดอาหารที่ผ่านการใช้แล้ว ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำกับอาหารอีกเป็นอันขาด

7.4 การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

  • การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการรีไซเคิล หมายถึงการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่เป็นขยะเหลือใช้มาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการทิ้งขยะพลาสติกประมาณ 2,163,000 ตัน แต่กลับสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียง 764,000 ตันหรือเพียงร้อยละ 35 ของปริมาณขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกทั้งหมด (ข้อมูลปี พ.ศ. 2555) ในจำนวนพลาสติกทั้งหมดนี้มีทั้งพลาสติกประเภทเทอร์โมเซตติงพลาสติก ซึ่งไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดโดยวิธีเดียวกับขยะมูลฝอยประเภทอื่น คือการฝัง การเผา ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พลาสติกที่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ คือพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติก สามารถจำแนกได้หลายชนิด ผู้บริโภคสามารถแยกชนิดพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้โดยสังเกตสัญลักษณ์และรหัสที่ถูกระบุบนผลิตภัณฑ์ (กำหนดโดยNA Society of the Plastics Industry ในปีค.ศ. 1988) ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเภทดังนี้โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (PET)โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE)โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC)โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ(LDPE) โพลีโพรพิลีน (PP)โพลีสไตรีน (PS)และประเภท อื่น ๆดังรายละเอียดในตาราง