การเดินทางเพื่อโลกสวย

     มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงเพื่อการทรงตัวและเคลื่อนที่ ในยุคแรก มนุษย์ใช้เพียงขา 2 ข้าง ในการพาร่างกายให้เคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งต่อมาเมื่อรูปแบบในการดำรงชีวิตการบริโภคและการผลิตเปลี่ยนแปลงไปมนุษย์ได้คิดค้นวิธีการเดินทางใหม่ๆเพื่อสนองความต้องการในการเคลื่อนที่ไปมาในระยะทางที่ไกลและเวลาที่ รวดเร็วขึ้น  

 การเดินทางของคนไทย

     การเดินทางของคนไทย มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามวิถีชีวิต ในอดีต สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ชีวิตไม่เร่งรีบนัก การกินการอยู่มักมาจากการผลิตเองทำเอง การเดินทางจึงใช้วิธีเดินเท้าและแรงงานสัตว์ โดยชุมชนที่ตั้ง ถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีลำน้ำคูคลอง ก็ได้อาศัยเรือเป็นพาหนะเดินทางอีกทางหนึ่ง ต่อมาเมื่อวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในสังคมอุตสาหกรรม การกินการอยู่จำเป็นต้องซื้อต้องขาย ชีวิตมีความเร่งรีบมากขึ้น เมืองขยายขึ้น การเดินทางจึงต้องเน้นความสะดวก รวดเร็ว และสามารถขนส่งสินค้าปริมาณมากในเวลาจำกัด ดังนั้น รถยนต์จึงเป็นพาหนะ ที่ได้รับความนิยมใช้สูงสุดเมื่อเทียบกับการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ

การเดินทางกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม

     การเดินทางและคมนาคมขนส่งมีการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ได้กำลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ทำให้มีการปล่อยก๊าซพิษชนิดต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน มึนงง และหมดสติ) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (ทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองและปอดบวมและเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดภาวะฝนกรด) สารไฮโดรคาร์บอน (เป็นอันตรายต่อเยื่อตา ถ้าหายใจเข้าไปจะทำให้ระบบการหายใจระคายเคือง) ออกไซด์ของไนโตรเจน (เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและขัดขวางการรับออกซิเจน ไปเลี้ยงร่างกายของเฮโมโกบินในเม็ดเลือดแดง) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เป็นตัวการสำคัญในการเกิดภาวะเรือนกระจก) เป็นต้น

การเดินทางของท่านมีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากแค่ไหน

     ในการเผาไหม้น้ำมันเบนซินและดีเซลทุกทุกหนึ่งลิตรพบว่ามีก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมประมาณ 2.3 และ 2.7 กิโลกรัม ตามลำดับ ดังนั้นหากมีการขับรถรถยนต์เป็นระยะทางปีละ 25,000 กิโลเมตร ในอัตราการการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 8.3 กิโลเมตรต่อลิตร(รวมทั้งปี จะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางมากถึง 3,000 ลิตร) เท่ากับว่าได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมมากถึงปีละ 7.2 ตัน

     ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวจะลอยขึ้นไปสะสมรวมกับก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วที่ชั้นบรรยากาศ และหากจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวหมดไป จะต้องปลูกต้นไม้มากถึง 800 ต้น ทั้งนี้ ต้นไม้แต่ละต้นจะมีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยปีละ 9 กิโลกรัม (คิดจากสมมติฐานที่ว่าต้นไม้ดังกล่าวจะต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวไม่น้อยกว่า 40 ปี)

เดินทางอย่างไร ถึงจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด

  • ลดการเดินทาง เพื่อลดจำนวนกิโลเมตรของ การเดินทางในแต่ละวันและโดยรวมตลอดทั้งปีลง
  • เดินทางด้วยการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ด้วยการเดิน ใช้จักรยานแทนรถยนต์ ใช้พลังงานชีวมวล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
  • เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ด้วยจำนวนกิโลเมตรเท่าเดิมแต่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง หรือเพิ่มจำนวนกิโลเมตรที่สามารถเดินทางด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเท่าเดิม เช่น จาก 3 กิโลเมตรต่อลิตรเป็น 18-25 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการขับ การวางแผนการเดินทาง การลดสัมภาระ ที่ไม่จำเป็น การปรับแต่งเครื่องยนต์ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และอุปกรณ์รถยนต์ ให้พร้อมต่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเดินทางตลอดทั้งปีมีการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง
  • ใช้บริการขนส่งมวลชนเพื่อลดจำนวนกิโลเมตรและจำนวนครั้งของการเดินทางด้วยรถยนต์ลง
  • ใช้การติดต่อสื่อสารเพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางลง จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตและการบริโภคได้โดยตรง

ขับรถอย่างไรให้ประหยัดน้ำมัน

     การเดินทางโดยรถยนต์เป็นการเดินทางที่ใช้พลังงานมากที่สุด ดังนั้นเพื่อช่วยลดพลังงานในการเดินทาง และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเดินทาง ควรเลือกวิธีการเดินทางโดยเริ่มจากสิ่งต่อไปนี้

การเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง

  • เตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของจุดหมายปลายทางหรือสถานีตำรวจในเส้นทางที่ผ่านกรณีฉุกเฉินหรือหลงทาง
  • เตรียมแผนที่เส้นทาง เพื่อป้องกันการหลงทางและสิ้นเปลืองน้ำมัน
  • ตรวจสอบเส้นทางและเลือกเส้นทางลัด หรือเส้นทางที่เหมาะสม แต่ถ้าหากเส้นทางลัดมีผิวถนน ไม่เรียบ การขับรถบนผิวถนนเรียบจะประหยัดน้ำมันกว่า
  • ตรวจสอบระดับน้ำในแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีน้ำกลั่นสำรองประจำรถ
  • ตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับที่กำหนด หากปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้ง หรือระดับต่ำกว่าขีดที่กำหนด ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขจะสูงมาก
  • ตรวจสอบไฟฉายประจำรถยังใช้งานได้ดีหรือไม่ ถ่านแบตเตอรี่หมดอายุหรือไม่
  • ควรมีอุปกรณ์สำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินประจำรถ เช่น แผ่นสะท้อนแสงแจ้งเหตุฉุกเฉิน กรณีต้องจอดข้างทาง ไฟฉายแบบกระพริบ
  • อุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนยางรถยนต์ ควรอยู่ท้ายรถเสมอ
  • ตรวจสอบไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ที่ปัดน้ำฝน กระจกหน้า กระจกข้างว่ายังทำงานปกติหรือไม่
  • ตรวจสอบยางรถยนต์ว่ายังมีเศษแก้ว เศษหินเกาะอยู่หรือไม่ และควรเขี่ยออก ถ้าเป็นตะปู ฝังอยู่จะต้องถอนและซ่อมรูที่รั่ว
  • ตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำ อย่าให้ต่ำกว่าขีดต่ำสุดที่กำหนด หรือปล่อยให้แห้งเพราะจะเกิดอันตรายและอาจจะต้องเปลี่ยนหม้อน้ำตัวใหม่ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
  • ผู้ขับควรมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนขับรถเดินทางไกล และไม่ควรดื่มเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ใดๆ ก่อนการเดินทาง

การขับรถอย่างถูกวิธี

  • ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ก่อนออกรถเพราะการเร่งเครื่องให้มีความเร็วรอบสูงจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรติดเครื่องขณะจอดรถคอยกรณีที่ต้องจอดรถคอยเป็นเวลานานควรดับเครื่องยนต์เพราะการติดเครื่องจอดอยู่เฉยๆ เป็นเวลา 5 นาที จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ 3 ลิตร
  • ขับรถที่ความเร็วเหมาะสม ควรควบคุมความเร็วให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมคือประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็วรอบของเครื่องยนต์ ไม่ควรใช้เกียร์ต่ำ (เกียร์ 1 เกียร์ 2 ) ที่ความเร็วรอบสูงหรือใช้เกียร์สูง (เกียร์ 3 เกียร์ 4 และ 5) ที่ความเร็วรอบต่ำ จะมีผลให้กำลังเครื่องตก และสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนช่องทางวิ่งบ่อยๆซึ่งอาจทำให้ต้องเร่งเครื่องอย่างเร็วและหยุดอย่างกะทันหัน จะเป็นการประหยัดน้ำมันและรักษาผ้าเบรก จานเบรกให้ใช้ได้นานขึ้น
  • เตรียมตัวล่วงหน้าเมื่อจะถึงสี่แยกสัญญาณไฟหรือป้ายสัญญาณ ช่วยให้ไม่ต้องเบรกอย่างพร่ำเพรื่อและรุนแรง และช่วยประหยัดน้ำมันและผ้าเบรก
  • การเปิดเครื่องปรับอากาศ จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 ดังนั้นหากเรา ใช้เครื่องปรับอากาศตามความจำเป็นและไม่ปรับให้เย็นมากเกินไป จะสามารถลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างมาก
  • ไม่ควรบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป ควรสำรวจดูในรถ หากมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ควรนำออกจากรถ
  • เติมลมยางให้เหมาะสมตรวจเช็คและเติมลมยางให้เหมะสมกับขนาดของรถยนต์หากลมยางแข็งเกินไปจะทำ ให้ยางแตกและขับขี่ไม่นุ่มนวลในขณะเดียวกันถ้าเติมลมยางอ่อนเกินไป จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น
  • ตรวจเช็ครถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ไม่ให้ สึกหรอ และสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างปลอดภัยและไม่เปลืองน้ำมัน
  • การตกแต่งรถการตกแต่งรถบางอย่างเช่นการขยายหน้ายางล้อให้ใหญ่กว่าขนาดมาตรฐานเดิมจะเป็นการเพิ่มพื้นที่การรับน้ำหนักของรถ เมื่อต้องเพิ่มอัตราเร่ง จะทำให้เครื่องยนต์ใช้ความเร็วรอบสูงกว่าปกติ เป็นเหตุให้สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น

การบำรุงรักษาเครื่องยนต์

    ผู้ขับขี่รถยนต์ควรดูแลส่วนต่างๆ ของรถยนต์ เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงาน ดังนี้

  • ไส้กรองอากาศ ควรทำความสะอาดไส้กรองทุกๆ 2500–3000 กิโลเมตร หรือเร็วกว่านี้ หากใช้รถในบริเวณที่มีฝุ่นเยอะๆ และให้เปลี่ยนไส้กรองทุกๆ 20,000 กิโลเมตร
  • คาร์บูเรเตอร์ หากคาร์บูเรเตอร์สกปรกจะสิ้นเปลืองน้ำมัน เนื่องจากระบบเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เครื่องยนต์เดินสะดุด หากปล่อยไว้จะสิ้นเปลืองน้ำมันถึงวันละ 100 ซีซี
  • หัวเทียน เมื่อใช้งานนานๆเขี้ยวหัวเทียนจะสึกหรอ ควรปรับระยะห่างของเขี้ยวหัวเทียนทุก 1 ปีหรือทุก 20,000 กิโลเมตร ถ้าปล่อยให้หัวเทียนบอดหรือเสื่อม และยังคงใช้ต่อเนื่องนาน 10 วัน จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 200 ซีซี
  • เบรก ควรสังเกตเสียงขณะเบรก หรือสังเกตจากการเบรกที่ไม่อยู่ระยะปกติ หรือจากไฟเตือนแสดงบนหน้าปัด ให้รีบเปลี่ยนผ้าเบรกหรือนำรถเข้าตรวจเช็คหากพบความผิดปกติ การปล่อยให้ ผ้าเบรกเสียดสีนานๆ จะเกิดความร้อนสูงมีผลให้คุณภาพของน้ำมันเบรกเสื่อมประสิทธิภาพและยังทำให้อุปกรณ์ในระบบเบรกสึกหรอเร็วขึ้นด้วย หากผ้าเบรกเสื่อมเสียดสีจากล้ออยู่เสมอ เบรกติด หรือตั้งระยะไม่ถูก ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันประมาณวันละ 400 ซีซี
  • น้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมัน เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพถูกต้องและเหมาะสมกับเครื่องยนต์ จะช่วยลดแรงเสียดทานภายในเครื่องยนต์ให้ดีขึ้น ประหยัดน้ำมันได้มาก และควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองทุก 5000–6000 กิโลเมตร หรือแล้วแต่คุณภาพของน้ำมัน