ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงาน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงาน


ความหมายของพลังงาน

พลังงาน คือ ความสามารถในการทำงาน โดยการทำงานนี้อาจจะอยู่ในรูปของการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนรูปของวัตถุ

ประเภทพลังงาน

ถ้าจัดพลังงานตามลักษณะการทำงานแล้ว จะสามารถแบ่งพลังงานออกเป็น

  • พลังงานสะสม (Stored energy) เป็นพลังงานที่เก็บสะสมในวัตถุหรือสิ่งของต่างๆเช่น พลังงานเคมีที่เก็บสะสมไว้ในอาหาร พลังงานเคมีที่เก็บในลักษณะของก้อนถ่านหิน น้ำมัน หรือไม้ฟืน
  • พลังงานศักย์ (Potential energy) เป็นพลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไม่ว่าจากแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดจากแม่เหล็ก เช่น ก้อนหินที่วางอยู่บนขอบที่สูง
  • พลังงานจลน์ (Kinetic energy) เป็นพลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุเคลื่อนที่ เช่น รถที่กำลังวิ่ง ธนูที่พุ่งออกจากแหล่ง จักรยานที่กำลังเคลื่อนที่ เป็นต้น
  • นอกจากนั้น พลังงานที่ใช้ยังมีรูปแบบต่างๆกันและสามารถเปลี่ยนรูปไปมาได้ เช่น พลังงานความร้อน พลังงานแสง พลังงานเคมี พลังงานไฟฟ้า

แหล่งพลังงาน

  1. พลังงานประเภทที่ใช้แล้วหมดไป
  • ถ่านหิน เกิดจากการที่พืชถูกทับถมในหนองน้ำใต้ดินและโคลนในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อยแต่จะเกิด การเปลี่ยนแปลงแบบไม่ใช้ออกซิเจนอย่างช้าๆโดยแบคทีเรีย ถ่านหินแบ่งเป็น 4 ชนิดตามคุณสมบัติทางด้านเคมีและการให้ความร้อน ได้แก่ พีท (Peat) ลิกไนต์ (Lignite) บิทูมินัส (Bituminous) และ แอนทราไซต์ (Anthracite)
  • น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของซากพืชและซากสัตว์ในทะเลเมื่อหลายล้านปีก่อนในภาวะที่มีความดันและอุณหภูมิสูงมาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอย่างช้าๆเป็นน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
  • หินน้ำมัน เกิดจากการทับถมของซากพืชและซากพืชบริเวณที่เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน เมื่อผสมกับหินดินทรายและถูกอัดแน่นเป็นเวลาหลายล้านๆปีกลายเป็นหินน้ำมันซึ่งมีลักษณะคล้าย หินชนวน มีสีดำแข็ง
  • พลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ได้จากขบวนการแตกตัว (Fission) ของธาตุกัมมันตรังสี โดยการแตกตัวนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปล่อยพลังงานเป็นจำนวนมากออกมา ซึ่งพลังงานดังกล่าวจะถูกใช้ในการทำไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า
  1. พลังงานที่เกิดขึ้นทดแทนใหม่ได้ (พลังงานหมุนเวียน)
  • พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่ได้จากพืชหรือสัตว์ เช่น ไม้ฟืน เศษเหลือทางการเกษตร เช่น ฟาง แกลบ ชานอ้อย รวมทั้งก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการหมักขยะหรือสิ่งปฏิกูล
  • แรงงานสัตว์ จัดเป็นพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่งและมนุษย์เคยมีการใช้แรงงานสัตว์เป็นแหล่งพลังงานในการทำงานทางด้านการเกษตรและการเดินทางคมนาคมขนส่
  • พลังน้ำ เป็นพลังงานที่ได้จากการไหลของน้ำจากที่สูงมายังที่ต่ำหรือใช้แรงดันจากกระแสน้ำ หากจะเปลี่ยนพลังงานจากน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า จะต้องมีการสร้างเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำและ ยกระดับของน้ำให้สูงขึ้น
  • พลังงานลม จัดเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานชนิดนี้สามารถใช้ได้ดีถ้าใช้ร่วมกับพลังงานชนิดอื่น เช่นพลังงานจากแสงแดด สำหรับประเทศไทย พบว่า ความเร็วลมอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ (เฉลี่ยต่ำกว่า 4 เมตร/วินาที)
  • พลังงานจากแสงแดด มนุษย์มีการใช้พลังงานจากแสงแดดโดยตรงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การตากผ้า การถนอมรักษาอาหาร ใช้เป็นเข็มทิศในการเดินทาง ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดโดยใช้แผง Solar Cell
  • พลังความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานที่ได้จากใจกลางของโลก ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 2-3 กิโลเมตร สำหรับประเทศไทย การใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพนี้มีการทดลองใช้ที่อำเภอฝาง จังหวัดลำปาง

พลังงานไฟฟ้า

คือพลังงานรูปหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวออกมาหรือการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนหรือโปรตอนหรืออนุภาคอื่นที่มีสมบัติแสดงอำนาจคล้ายคลึงกับอิเล็กตรอนหรือโปรตอน ขณะที่ในแง่ของการใช้ไฟฟ้าจะหมายถึง ความสิ้นเปลืองไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งก็คือกำลังไฟฟ้าที่ใช้ควบคู่กับระยะเวลาในการใช้ไฟฟ้ามีหน่วยเรียกเป็น “วัตต์-ชั่วโมง” หรือ “กิโลวัตต์-ชั่วโมง”

  • ไฟฟ้าในประเทศไทย

ประเทศไทย เริ่มมีไฟฟ้าครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการริเริ่มของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) และได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2427 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพและนับเป็นการเริ่มต้นของการมีไฟฟ้าของไทยมาตั้งแต่บัดนั้น โดยไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ  แรงดัน 220 โวลต์ ซึ่งใช้ในบ้านอยู่อาศัยและ แรงดัน 380 โวลต์ ใช้ในงานอุตสาหกรรม

  • การผลิตไฟฟ้า เรียกตามลักษณะและวิธีในการผลิตได้ดังนี้
  1. โรงไฟฟ้าพลังน้ำ คือโรงไฟฟ้าที่ใช้แรงดันของน้ำไปหมุนเครื่องกังหันเพื่อเปลี่ยนแรงดันของน้ำให้เป็นพลังงานกลที่สามารถควบคุมได้ และใช้พลังงานกลที่ได้นี้ไปหมุนเครื่องผลิตไฟฟ้า
  2. โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (พลังไอน้ำ) คือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนเป็นกำลังในการผลิตไฟฟ้า โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูงไปขับดันเครื่องกังหันไอน้ำ แล้วฉุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการผลิตไฟฟ้า
  3. โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการเผาไหม้เชื้อเพลิงในห้องอัดอากาศให้เกิดอากาศร้อนที่มีแรงดันสูงไปขับเครื่องกังหันแก๊สแล้วไปฉุดเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า
  4. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม คือโรงไฟฟ้าระบบร่วมของเครื่องกังหันแก๊สและเครื่องพลังความร้อน โดยการนำไอเสียจากเครื่องกังหันแก๊สที่มีความร้อนสูงไปผ่านหม้อน้ำ แล้วถ่าย เทความร้อนให้กับน้ำ ทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ เพื่อขับกังหันไอ น้ำ ซึ่งต่อกับเพลาเครื่องกำเนิ ดไฟฟ้าผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกครั้งหนึ่ง
  5. โรงไฟฟ้าดีเซล คือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานกลจากเครื่องยนต์ดีเซลไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการผลิตพลังงานไฟฟ้า
  6. โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ Solar Cell เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
  7. โรงไฟฟ้าพลังงานลม คือโรงไฟฟ้าที่อาศัยการเปลี่ยนรูปพลังงานจลน์ของกระแสลมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
  8. โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ คือโรงไฟฟ้าที่อาศัยความร้อนจากแหล่งน้ำร้อนใต้ พิภพ โดยการนำน้ำร้อนไปถ่ายเทความร้อนให้กับสารของไหลที่มีจุดเดือดต่ำจน กระทั่งเดือดกลายเป็นไอแล้วนำไปหมุนเครื่องกังหันซึ่งมีเพลาต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำการผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งาน
  9. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ โรงงานผลิต กระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์ (Nuclear fission reaction) ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูง แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ ซึ่งต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้า และส่งต่อไปยังผู้บริโภคต่อไป

สถานการณ์พลังงาน

ปี 2561 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานรวมทั้งสิ้น 83,691 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 3.7 โดยใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ (ร้อยละ 84.6) อันประกอบด้วยน้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และใช้พลังงานหมุนเวียน (ร้อยละ 15.4) อันประกอบด้วย ฟืน ถ่าน แกลบ กากอ้อยและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 คาดว่าแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ตามการขยายตัวของการบริโภค จำนวนประชากร และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในตลาดยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง    จนมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการพลังงานน่าจะชะลอลง

จากความความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2561 ประเทศไทยมีการจัดหาพลังงานเพื่อนำมาแปรรูปและใช้ในสาขาเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งส่งออก รวมทั้งสิ้น 156,277 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยแบ่งเป็น

  • ผลิตพลังงานจากแหล่งในประเทศ 73,222 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 6 เป็นการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 63.4 พลังงานหมุนเวียนและพลังงานอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 36.6 ของการผลิตพลังงานทั้งหมด
  • นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 83,055 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2 โดยเป็นการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์กว่าร้อยละ 99.9 ของการนำเข้าพลังงานทั้งหมด และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 0.1

การผลิตและใช้พลังงานสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ?

กระบวนการนำเชื้อเพลิงพลังงานขึ้นมาใช้ การแปรรูป และการใช้พลังงาน ล้วนแต่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผลกระทบต่อพื้นที่ป่า สัตว์ป่า สังคมและชุมชน ในกรณีที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงพลังงานทุกชนิด ผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ เนื่องมากจากสารพิษและเขม่าหรือควัน ฯลฯ

โลกร้อน

จากการที่เชื้อเพลิงพลังงานที่เราพึ่งพาส่วนใหญ่เป็นพวกฟอสซิลซึ่งประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจนและคาร์บอนเป็นหลัก เมื่อมีการเผาไหม้เพื่อให้ได้พลังงานหรือความร้อนออกมา ก็จะมีการปล่อยธาตุคาร์บอนในรูปของก๊าซเรียกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปสะสมรวมกับก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ (ก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ โอโซน ซีเอฟซี) ที่ชั้นบรรยากาศ เรียกว่า ชั้นเรือนกระจก โดยชั้นเรือนกระจกจะดูดซับรังสีความร้อนหรือที่เรียกว่ารังสีอินฟราเรด ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น การที่มีโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและที่สำคัญคือทำให้ภูมิอากาศของ  โลกเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบไหลเวียนตามธรรมชาติของน้ำ ไอน้ำ ลม และอื่นๆ ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า ระดับความรุนแรงของภัย ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ถูกรบกวนโดยกิจกรรมของมนุษย์ และหนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือ การใช้พลังงานของมนุษย์นั่นเอง

ฝนกรด

การเผาไหม้ถ่านหินซึ่งมีส่วนประกอบของกำมะถัน(ซัลเฟอร์) จากโรงงานหรือโรงไฟฟ้าที่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะทำให้เกิดสารมลพิษหลักคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ในขณะที่การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ทำให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ซึ่งเมื่อสารมลพิษทั้ง 2 ชนิดลอยขึ้นไปในอากาศจะรวมตัวกับไอน้ำกลายเป็นกรดซัลฟูลิคและกรดไนตริกและเกิดปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนเป็นสารประกอบซัลเฟตและไนเตรทสะสมในอากาศ จนในที่สุดรวมตัวกับน้ำฝน ตกลงสู่พื้นดินกลายเป็น “ฝนกรด”

ฝนกรดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศ สุขภาพมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เมื่อฝนที่ตกลงมามีสภาพเป็นกรดทำให้สามารถกัดกร่อนสิ่งก่อสร้างรวมทั้งต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆล้มตาย น้ำฝนที่ซึมลงดินหรือไหลบนผิวดินจะทำให้ทั้งดินและแหล่งน้ำมีสภาพเป็นกรด มีผลกระทบต่อพืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำ

การอนุรักษ์พลังงาน

หมายถึง การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มด้วยการลดการสูญเสียในทุกขั้นตอนของการใช้พลังงาน การใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีการบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในระดับหน่วยงาน ควรจัดให้มีการสำรวจตรวจตราเกี่ยวกับการใช้พลังงาน เพื่อหาจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข โดยอาจจัดทำเป็นแผนการใช้พลังงานของหน่วยงานที่เป้าหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างชัดเจน

คุณสามารถทำอะไรได้บ้าง

  • ลดการรั่วไหล

การหลีกเลี่ยงการสูญเสียรั่วไหลจากการใช้พลังงาน มักจะถูกละเลยและมองข้ามเสมอทั้งที่สามารถทำได้ง่าย รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น

การติดตั้งเครื่องปรับอากาศโดยป้องกันการรั่วไหลของอากาศเย็นออกจากห้อง

  • การติดตั้งเครื่องปรับอากาศโดยป้องกันการรั่วไหลของอากาศเย็นออกจากห้อง
  • การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ตำแหน่งที่ไม่ปิดกั้นทางลมและแสงสว่าง
  • การติดตั้งตู้เย็นในตำแหน่งที่ห่างไกลจากความร้อน
  • การดูแลบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ
  • การติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในที่ที่มีการบำรุงรักษาได้ง่าย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้ที่แตกต่างกัน หากมีการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ เช่น ไม่เปิดตู้เย็นบ่อยหรือเปิดไว้นานๆ ปิดโทรทัศน์ทุกครั้งเมื่อไม่มีคนดูหรือการรีดผ้าครั้งละจำนวนมาก เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันหากมีการใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้วพฤติกรรมการใช้ของเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานได้เช่นกัน

  • หันมาใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน

การประหยัดพลังงานต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้ออุปกรณ์ ซึ่งการพิจารณาเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้ามีเกณฑ์ที่ต้องพิจารณา 4 ประการ ได้แก่

  • กำลังไฟฟ้า เป็นตัวบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เลือกใช้จะกินไฟมากน้อยเพียงใด ปกติ เครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีแผ่นป้ายบอกไว้ที่ตัวเครื่องว่ากินไฟกี่วัตต์ (กิโลวัตต์) จำนวนวัตต์มากก็ย่อมกินไฟมาก การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พิจารณาว่า ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเดียวกัน แต่มีจำนวนวัตต์มากกว่า ก็ย่อมจะกินไฟมากกว่า ปัจจุบันในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท ผู้ซื้อสามารถลือกชนิดที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ได้จากการสังเกตสัญลักษณ์ประหยัดพลังงาน
  • ความปลอดภัยในการใช้งาน ไฟฟ้ามีอันตรายถ้าใช้ไม่ถูกวิธี จึงควรเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการออกแบบที่ดี และเป็นที่ไว้วางใจได้
  • ราคา ราคาของเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะการเลือกซื้อของราคาถูกบางครั้งก็ไม่เป็นการประหยัดนัก เพราะอาจได้ของคุณภาพต่ำ ทางที่ดีควรปรึกษาผู้รู้
  • ค่าติดตั้งบำรุงรักษา การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องพิจารณาการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องด้วย หากการติดตั้งต้องเดินสายไฟใหม่ ต้องทุบหรือรื้อผนังหรือต้องดัดแปลงบ้านใหม่ ค่าติดตั้งก็จะสูงมาก อีกประการหนึ่งคือ ควรสอบถามผู้ที่เคยใช้เกี่ยวกับค่าซ่อม ค่าอะไหล่ วิธีและค่าบำรุงรักษา ว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงตัดสินใจเลือกซื้อชนิดที่มีค่าซ่อมถูก อะไหล่หาง่าย วิธีบำรุงรักษาไม่ยุ่งยาก

นอกจากนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์เสริมก็มีส่วนสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงาน เช่น การใช้สวิตซ์กระตุก การใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูง เป็นต้น


เลือกเนื้อหาที่น่าสนใจ