ชื่อไทย                         คำมอกหลวง (Golden Gardenia)

ชื่อท้องถิ่น                   ไข่เน่า คำมอกช้าง ผ่าด้าม ยางมอกใหญ่ สะแล่งหอมไก๋ หอมไก๋

ชื่อวิทยาศาสตร์          Gardenia sootepensis Hutch.

ชื่อวงศ์                    RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ยอดมีน้ำยางเหนียวสีเหลือง

ลักษณะใบ มีขนสั้นนุ่มตามหูใบ แผ่นใบด้านล่าง และก้านใบ หูใบเชื่อมติดกันเป็นวงรอบกิ่ง ยาว 0.5-1 เซนติเมตร ร่วงเร็ว ทิ้งรอยชัดเจน ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 10-30 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร

ลักษณะดอก ดอกออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1-1.5 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1-2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก แยกเกือบจรดโคนด้านเดียว ดอกสีเหลืองหรือขาว หลอดกลีบดอกยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 3-5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้ปากหลอดกลีบดอกระหว่างกลีบดอก ไร้ก้านชูอับเรณู เกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ยอดเกสรรูปกระบอง

ลักษณะผล ผลสดรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2 – 3 เซนติเมตร ยาว 3 – 5 เซนติเมตร มีสันตื้น 5 สัน ผลสุกสีเหลือง มีเนื้อสีน้ำตาลเหลือง เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

ระยะการออกดอกติดผล

การติดดอก กุมภาพันธ์-เมษายน

การติดผล กรกฎาคม-ตุลาคม

เขตการกระจายพันธุ์  

พบในพม่า ลาว จีนตอนใต้ ประเทศไทยพบในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

 

 

การใช้ประโยชน์        

เป็นพืชทนแล้ง เหมาะจะปลูกเพื่อให้ร่มเงาในบ้านมากเพราะดอกหอม

เมล็ด เมื่อต้มกับน้ำสะอาดจะเกิดฟองสามารถนำไปใช้เป็นแชมพูสระผม ช่วยให้ผลนิ่มและลื่น และช่วยกำจัดเหา

ผล ผลสุกสามารถรับประทานได้มีรสชาติ เปรี้ยว

ลำต้น ใช้ทำของเล่นเป่าให้เกิดสียงเรียกว่า “โหวด”

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช