ชื่อไทย                         มังคุด (Mangosteen)

ชื่อวิทยาศาสตร์          Garcinia mangostana L.

ชื่อวงศ์                    CLUSIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้น สูง 10-12 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เป็นพุ่มหนาแน่น กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมน มียางสีเหลือง

ลักษณะใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปงรีแกมขอบขนาน กว้าง 6-11 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมันลื่น ด้านล่างสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาเหนียว

ลักษณะดอก ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง มี 4 กลีบ กลีบดอกสีแดงหนา 5 กลีบ เกสรเพศผู้สีเหลือง เป็นกระจุกใจกลางดอก

ลักษณะผล รูปทรงกลม ขนาด 5-7 เซนติเมตร ผิวเรียบหรือมีกระ เปลือกหนา ผลอ่อนสีเขียวพอแก่สุกเป็นสีม่วงดำ เนื้อในสีขาวมีรสหวาน รับประทานได้

ระยะการออกดอกติดผล

เขตกระจายพันธุ์       

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียตะวันตกเฉียงใต้และพื้นที่เขตร้อนอื่น ๆ เช่น เปอร์โตริโก และฟลอริด้า

ประเภทการใช้ประโยชน์       

เปลือกผล มีรสฝาด บดเป็นผงหรือต้มหรือชงกินแก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย ฝนกับน้ำปูนใส ทาแผลเน่าเปื่อยพุพอง สมานแผลสด ต้มชะล้างบาดแผล

ยางจากผล มีรสฝาด กินแก้บิด ท้องร่วง ใส่แผลที่เป็นหนอง

เนื้อหุ้มเมล็ด มีรสเย็น หวานอมเปรี้ยว แก้ร้อนในจากการกินทุเรียน บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย

แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์