หอมแดง  Shallot 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Allium ascalonicum L.

วงค์  Amaryllidaceae

ชื่อท้องถิ่นอื่น หอมแกง (ภาคกลาง ภาคใต้) หอมไทย หอมเล็ก หอมหัว (ภาคกลาง) หอมหัวขาว หอมบัว หอมปั่ว (พายัพ) ผักบั่ว (อีสาน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพืชล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นมีลักษณะทรงกลม ลำต้นจะถูกห่อหุ้มไปด้วยกาบใบโดยรอบๆ มีสีเขียวอ่อน ระบบรากฝอยเล็กๆ สีน้ำตาล ออกเป็นกระจุก ด้านล่างของหัว หัวมีลักษณะทรงกลมแป้น หรือทรงกลมรี มีเปลือกกาบใบห่อหุ้มหลายๆชั้น หัวอ่อนมีสีแดงหรือสีแดงสีม่วง หัวแก่มีเปลือกด้านนอกแห้งมีสีแดงหรือสีแดงอมม่วง มีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ดร้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ อยู่เป็นกระจุก ใบเป็นท่อยาว ใบมีลักษณะดาบยาวรี ปลายแหลม ใบกลมข้างในกลวง โคนใบเป็นกาบใบสีขาว ออกหุ้มสลับซ้อนกันอยู่ ตรงโคนลำต้น ใบมีสีเขียว มีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นฉุนแรง ดอกออกเป็นช่อ แทงออกมาจากตรงกลางลำต้น ก้านช่อดอกยาวกลมข้างในกลวง ดอกมีลักษณะคล้ายร่ม ทรงกลมแล้วจะบานออก มีดอกย่อยเล็กๆอยู่บนก้านจำนวนมาก กลีบดอกมีสีขาวอมม่วง ก้านมีสีเขียว ผลมีลักษณะกลมๆ ผลแก่จะแตกออก มีเมล็ดอยู่ข้างในผล เมล็ด เมื่อผลแก่แตกออกได้ มีเมล็ดอยู่ข้างใน เมล็ดมีลักษณะทรงรีเล็กๆ ผิวเรียบ มีสีดำ

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางอาหารของหอมแดง ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม คือ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 88 กรัม โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม ใยอาหาร 0.7 กรัม เถ้า ( ash ) 0.6 กรัม แคลเซี่ยม 36 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5 หน่วยสากล ( I.U. ) วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินซี 2 มิลลิกรัม พลังงาน 160 Kj คุณภาพของหอมแดงขึ้นอยู่กับของแข็ง ( Solids ) ที่ละลายน้ำได้ และให้กลิ่นหอม เมื่อนำไปทอด หอมแดงจะมี soluble solid อยู่ระหว่าง 15-20 Brix เป็นส่วนประกอบของกรดแอมิโน S-allkyl cysteine sulphoxides ที่ให้ทั้งรสชาติ และกลิ่นฉุนของหอม

เมนูเด็ด

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านอักเสบ ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของส่วนสกัดหัวหอมแดงในเอทานอลในหลอดทดลอง ทำการทดสอบความมีชีวิตรอดของเซลล์ด้วยวิธี 3-[4,5-dimethylthiazol-2-yl]-2,5-dyphenyl tetra-zolium bromide (MTT) ศึกษาผลของส่วนสกัดต่อการแสดงออกของยีนที่เป็นสื่อกลางการอักเสบได้แก่ inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase (COX)-2, COX-1, tumor necrosis factor (TNF)-α, interleukin (IL)-1β และ IL-6 ในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ (RAW 264.7) ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสาร Lipopolysaccharide (LPS) โดยวัดปริมาณยีนที่แสดงออกด้วยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) วิเคราะห์หาปริมาณฟีนอลรวม และฟลาโวนอยด์รวม ของส่วนสกัดโดยใช้ปฏิกิริยาการเกิดสีกับสาร Folin-Ciocalteu และสารอลูมิเนียมคลอไรด์ ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าที่ความเข้มข้น 62.5, 125 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสกัดหอมแดงในเอทานอลไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ iNOS, TNF-α, IL-1β และ IL-6 เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้น ส่วนสกัดหอมแดงไม่มีผลต่อการแสดงออกของยีน COX-2 แต่ยับยั้งการแสดงออกของยีน COX-1 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปริมาณสารฟีนอลรวมคิดเป็น 15.964±0.122 สมมูลกับกรดแกลลิก/กรัม และมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม 11.742 ±0.012 มก. สมมูลกับสารเคอร์ซิทิน/กรัม (Werawattanachai, et al, 2015)

ฤทธิ์ปกป้องตับและไต   การศึกษาความสามารถในการป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรีย โดยเตรียมสารสกัดหอมแดงอย่างหยาบด้วยน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ในหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR ที่ติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei  ANKA ปริมาณ 6×106เซลล์ ต่อหนูทดลอง โดยให้หนูทดลองได้รับสารสกัดทางหลอดอาหารวันละครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน และทำการตรวจวัดค่าบ่งชี้ความเสียหาย ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT) และตัวบ่งชี้การทำงานของไต ได้แก่ blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าความเข้มข้นสูงสุดของสารสกัดหอมแดงที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ คือ 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และในขณะที่มีการติดเชื้อมาลาเรียนั้นจะพบความเสียหายของตับ และไตเกิดขึ้นในวันที่ 10 หลังจากติดเชื้อโดยดูได้จากระดับของ AST, ALT, BUN และ creatinine ที่สูงที่สุด แต่สารสกัดหอมแดงที่ขนาด 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันความเสียหายของตับและไต จากการติดเชื้อมาลาเรียได้โดยดูจากตัวบ่งชี้ที่มีระดับปกติ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหอมแดงมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรียในหนูทดลองได้ (วรวุฒิ และคณะ, 2558)

ที่มา : http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=145

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%81