ชื่อไทย                         หางนกยูงฝรั่ง

ชื่อท้องถิ่น                นกยูงฝรั่ง อินทรี (ภาคกลาง), หงอนยูง (ภาคใต้), นกยูง นกยูงฝรั่ง ชมพอหลวง ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ), ยูงทอง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์          Delonix regia  (Bojer Ex Hook.) Rafin

ชื่อวงศ์                    LEGUMINOSAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว 12 – 18 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างทรงกลมคล้ายร่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายก้ามปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่

ลักษณะใบ ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชผลัดใบ ในประเทศไทยมักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

ลักษณะดอก ออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูงความจริงประกอบด้วยสี 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะมี 2 สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมากกว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบแต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด

ลักษณะผล ลักษณะของผลเป็นฝักแบนแข็ง โค้งเป็นรูปดาบ ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลักษณะของฝักเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อฝักแก่จะแตกออก และในฝักมีเมล็ดเรียงอยู่ตามขวางประมาณ 20-40 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ส่วนเมล็ดแก่เต็มที่จะเป็นสีเทาอมขาว ลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลม (หรือทรงกระบอกหัวท้ายมน)

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกช่วงเมษายน –มิถุนายน  ออกผลช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม

เขตการกระจายพันธุ์  

เป็นพันธุ์ไม้ของเกาะมาดากัสการ์ และแอฟริกา นิยมนํามาปลูกทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก เช่น อินเดีย พม่า มาเลเซีย และไทย

การใช้ประโยชน์        

ต้นหางนกยูงฝรั่งเป็นต้นไม้ที่เป็นทรงพุ่มสวยงดงามมาก สีของดอกดูสวยสดใส เป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่ายและทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง มักนิยมปลูกไว้ประดับตามสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมไปถึงสวนสาธารณะและตามขอบถนนหนทางต่าง ๆ

ราก : นำมาต้มหรือทอดรับประทานกับอาหาร เป็นยาขับโลหิตในสตรี แก้อาการบวมต่าง ๆ ลำต้นนำมาฝนทาแก้พิษ ถอนพิษสัตว์ต่อยกัดได้

เมล็ด : เมล็ดอ่อนของหางนกยูงฝรั่งนำมากินสด ๆ ได้ สำหรับเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะใช้กินได้ เพราะมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่จะถูกทำลายด้วยความร้อน

ดอก : นำมาไล่แมลงวีได้

แหล่งข้อมูล : ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์