ขนุน
ชื่อไทย ขนุน (Jack fruit tree)
ชื่อท้องถิ่น ขะนู ขะเนอ ซีคึย ปะหน่อย นะยวยซะ นากอ เนน มะหนุน ล้าง ลาน หมักหมี้ หมากกลาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ทรงพุ่มรูปทรงกระบอก ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว เป็นไม้เนื้ออ่อน แก่นสีเหลือง
ลักษณะใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-17 เซนติเมตร มีหูใบขนาดใหญ่หุ้มปลายยอด หูใบหลุดร่วงง่าย โคนใบมนปลายใบทู่ถึงแหลม ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน และแผ่นหนาเหมือนหนัง ท้องใบสาก ก้านใบยาว 1.0-2.5 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ดอกออกเป็นช่อแท่งกลมยาว ออกตามลำต้นหรือกิ่งขนาดใหญ่ ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกัน แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศเมียจะออกที่โคนกิ่ง ลำต้น หรือก้านขนาดใหญ่ ดอกเพศผู้ส่วนมากออกที่ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม
ลักษณะผล เป็นผลรวม ผลมีขนาดใหญ่ ในหนึ่งผลใหญ่จะมีผลย่อยอยู่หลายผล ผิวมีหนามสั้นเนื้อหุ้มเมล็ดมีสีเหลือง เมื่อสุกมีกลิ่นหอม รสหวาน
ลักษณะเมล็ด มีจำนวนมาก รูปค่อนข้างกลม หรือขอบขนาน กว้าง 15-20 มิลลิเมตร ยาว 25-30 มิลลิเมตร
ระยะการออกดอกติดผล
การติดดอก : ธันวาคม-มกราคม และ เมษายน-พฤษภาคม
การติดผล : มีนาคม-มิถุนายน และ เมษายน-กันยายน
เขตการกระจายพันธุ์
ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเชีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ : ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง
ใบ : ใบอ่อนรับประทานสดหรือลวกกับน้ำพริก
ผล : ผลอ่อนใช้ทำประกอบอาหาร ผลสุกกินเป็นผลไม้
ราก : แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องเสีย
เมล็ด : บำรุงน้ำนมในสตรีหลังคลอด ใช้ประมาณ 60-240 กรัม ต้มสุกกิน จะมีรสชุ่ม ช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด มีน้ำนมน้อยหรือไม่มีน้ำนมช่วยบำรุงร่างกาย
ผลสุก : มีกลิ่นหอม เนื้อในจะมีสีเหลืองนำมารับประทานได้หรือผสมกับน้ำหวานเป็นขนม เนื้อในสีเหลืองลื่น รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับทรวงอก รับประทานมากจะเป็นยาระบายอ่อนๆ
ผลอ่อน : นำมาต้มเป็นผักจิ้มแล้ว ยังมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสีย
น้ำยาง : จะมี resins ใช้เป็นสารเคลือบวัตถุหรือจะนำมาผสมกับยางไม้อื่นเพื่อทำตังดักนกก็ได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาโรคซิฟิลิส และขับพยาธิ
แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์