บวบเหลี่ยม
บวบเหลี่ยม Angled loofah
ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa acutangula (L.) Roxb.
วงศ์ CUCURBITACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่น มะนอย หมักนอย (เชียงใหม่), บวบหวาน (แม่ฮ่องสอน), มะนอยงู มะนอยข้อง มะนอยเหลี่ยม (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), บวบเหลี่ยม (ไทย), เดเรเนอมู เดเรส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กะตอรอ (มลายู-ปัตตานี), อ๊อซีกวย (จีน) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
บวบเป็นไม้เถายาว เจริญเติบโตได้เร็ว มีอายุประมาณ 1 ปี เป็นพืชตระกูลเดียวกับแตง อยู่ในสกุลลุฟฟ่า (Luffa) ลำต้น เป็นเหลี่ยมสัน ตามข้อมีมือที่ใช้เกาะเกี่ยวเป็นเส้นยาว ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปเหลี่ยมมีราว 5 ถึง 7 เหลี่ยม ตามขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ ปลายใบค่อนข้างแหลม ส่วนโคนใบเว้าลึกเข้าด้านในจนดูคล้ายกับรูปหัวใจ ก้านใบยาวราว 4 ถึง 9 เซนติเมตร และเป็นเหลี่ยมเหมือนกับลำต้น ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตามง่ามใบ ทั้งแบบเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ โดยมีดอกทั้งตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน ผลเป็นรูปทรงคล้ายกระบอกกลม ยาวราวๆ 20 เซนติเมตร ผลบวบเหลี่ยม ผิวมีเหลี่ยมเป็นเส้นไปตามความยาวของผล นับได้ 10 เหลี่ยมเท่ากันทุกผล โคนผลและปลายผลเรียวเล็ก ให้ผลดกและงามยามหน้าฝน
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของผลบวบเหลี่ยม ต่อ 100 กรัม พลังงาน 18 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.7 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม เส้นใยอาหาร 0.3 กรัม เถ้า 0.4 กรัม น้ำ 95.4 กรัม เบตาแคโรทีน 30 ไมโครกรัม วิตามินเอรวม 5 RE วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม ธาตุฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
เมนูเด็ด
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบวบเหลี่ยม ในเมล็ดมีสารไขมันอยู่ประมาณ 37.5% มีโปรตีนประมาณ 33.4% และประกอบไปด้วยกรดอะมิโน และเมล็ดบวบที่มีรสขมจะมีสาร Cucurbitacin B 0.12%, น้ำมันประมาณ 18.4%, กรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 80.3%, กรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 19.34% unsaponified matters 1.5% กรดไขมันได้แก่ Oleic acid, Palmitic acid, Stearic acid, Linoleic acid และมี Lignoceric acid อีกเล็กน้อย เมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขมจะมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรงเนื่องจากมีสาร Elaterin ที่ทำให้ถ่าย ส่วนรากก็มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายเช่นกันเมล็ดหากกินมากจะทำให้อาเจียน ในเมล็ดมีสารจำพวกซาโปนิน (Saponins) มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจกบคล้ายกับดิยิลลิส (Digitalis) ซึ่งสามารถย่อยเม็ดเลือดแดงสุนัขและเป็นพิษต่อปลาเป็นอย่างมาก และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดบวบเหลี่ยมในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลทำให้สุนัขที่กินเข้าไปตาย และก่อนตายจะมีอาการอาเจียนน้ำลายฟูมปาก อีกทั้งยังมีเลือดออกในลำไส้อีกด้วย
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
https://medthai.com/%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%