ชื่อไทย เลี่ยน
ชื่อท้องถิ่น เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน (ภาคเหนือ), เลี่ยนใบใหญ่ เคี่ยน เลี่ยน เกษมณี (ภาคกลาง), เลี่ยนดอกม่วง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melia azedarach L.
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับสะเดา ลักษณะลำต้นและใบมีความใกล้เคียงกันกับสะเดา มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว แตกกิ่งก้านออกไปรอบๆ ลำต้นเป็นจำนวนมาก เปลือกผิวลำต้นมีสีน้ำตาล มีแผลเป็นร่องตามยาว ลำต้นเจริญขึ้นตรง ทรงพุ่มกลมรูปกรวยโปร่ง
ลักษณะใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับ มักทิ้งใบเหลืออยู่ที่ปลายกิ่ง หรือช่อใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ช่อใบยาวได้ประมาณ 8 นิ้ว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีกึ่งขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และตามเส้นใบจะมีขนอ่อนๆ ปกคลุมอยู่ เลี่ยนเล็กใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ กลีบดอกมี 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ดอกยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงเข้มติดกันเป็นหลอด ซึ่งจะตัดกับกลีบดอกน่าดูมาก ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5-6 แฉก และดอกที่โคนก้านช่อจะบานก่อน แล้วจะค่อยๆ บานขึ้นไปตามลำดับ
ลักษณะผล ผลมีลักษณะกลมรี เลี่ยนเล็กผลยาวได้ประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ผลจะยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวสีน้ำตาล บ้างว่าในผลจะแบ่งออกเป็น 4-5 ห้อง และในแต่ละห้องจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด และเมล็ดเป็นรูปเหลี่ยมสีดำ
ระยะการออกดอกติดผล
ติดดอก มีนาคม-พฤษภาคม
ติดผล ตุลาคม-ธันวาคม
เขตการกระจายพันธุ์
ในประเทศไทยพบว่า มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในป่าทั่วไป ยกเว้นภาคใต้ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ขึ้นอยู่ตามบริเวณไหล่เขา ริมลำห้วยที่ราบ หรือที่เป็นเนินเขาจนถึงบริเวณที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ประมาณ 500 ม.
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ ใช้สร้างบ้าน ใช้ทำฟืน
ใบ ขับพยาธิตัวกลม ขับระดู ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ฝาดสมานและไล่แมลง
ดอก ฆ่าเหา แก้โรคผิวหนัง
ผล แก้โรคผิวหนัง แผลพุพองที่หัว ทาแผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก เป็นยาฆ่าเหาหรือแมลง
แหล่งข้อมูล : https://medthai.com/เลี่ยน/
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.