แก้วหิมาลัย/แก้วแคระ
ชื่อไทย แก้ว
ชื่อท้องถิ่น แก้วขาว (กลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (เหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง)
ชื่อสามัญ Andaman satinwood/ Chinese box tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร ไม่ผลัดใบ
ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคี่ ใบย่อยเรียงแบบสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 2-7 เซนติเมตร กว้าง 1-3 เซนติเมตร ฐานสอบแหลม ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเป็นคลื่น ผิวใบมีต่อมน้ำมัน มีกลิ่นฉุน
ลักษณะดอก เป็นช่อกระจุก ออกเป็นช่อสั้นที่ปลายยอด ก้านดอกย่อยยาว 0.5-1.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวรูปรี 5 กลีบ ปลายกลีบมนหรือแหลม กลีบดอกร่วงง่าย ดอกมีกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 10 อัน สั้น 5 อัน ยาว 5 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ลักษณะผล ผลสดแบบผลส้ม รูปรีหรือไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงอมส้ม ต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด มีความกว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.3 เซนติเมตร
ระยะการออกดอกติดผล
ตลอดทั้งปี
เขตการกระจายพันธุ์
ในไทยพบกระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะตามเขาหินปูนทางภาคใต้ ระดับความสูงจนถึงประมาณ 600 เมตร ต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซียถึงออสเตรเลีย
การใช้ประโยชน์
ไม้ดอกไม้ประดับ เนื้อไม้ลายมันสวยงาม มีน้ำมันในเนื้อไม้ นิยมใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน ด้ามเครื่องมือ ไม้บรรทัด ด้ามปากกา ซอด้วง ซออู้
ใบ ปรุงเป็นยาขับระดูที่เรียกว่ายาประสะใบแก้ว และใช้เป็นยาระบายลม แก้จุกเสียแน่นเฟ้อ
แหล่งข้อมูล : สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้