ความรู้เรื่องโลกร้อน
สารบัญ
เกี่ยวกับโลกร้อน (Global Warming)
เมื่อโลกร้อนขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร ?
ทางออกโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง
เกี่ยวกับโลกร้อน (Global Warming)
โลกร้อนหรือภาวะโลกร้อน เป็นภาวะที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการดูดซับความร้อนและการแผ่รังสีความร้อนของชั้นบรรยากาศโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 0.74 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม
การดูดซับและแผ่รังสีความร้อนของชั้นบรรยากาศโลก
โดยทั่วไป โลกได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ โดยรังสีที่เดินทางมายังโลก ส่วนหนึ่งจะถูกดูดกลืน โดย ก๊าซต่างๆ ละอองลอย และเมฆ ส่วนที่เหลือเมื่อมาถึงผิวโลก จะถูกดูดกลืนไว้ที่พื้นผิวโลก โดยพื้นดิน พื้นน้ำ น้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นโลก และสิ่งมีชีวิต และถูกปลดปล่อยจากพื้นผิวโลกให้สะท้อนกลับขึ้นไปในบรรยากาศอีกครั้ง และส่วนหนึ่งจะเล็ดลอดออกสู่อวกาศ ในขณะที่รังสีส่วนที่เหลือจะถูกดูดกลืนโดยสิ่งต่างๆ ในระบบภูมิอากาศ เช่น ก๊าซ ไอน้ำ เมฆ โดยกลุ่มก๊าซที่สามารถดูดกลืนและเปล่งรังสีความร้อนที่แผ่จากพื้นโลกได้ดี ได้แก่ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซโอโซน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนน้อยในบรรยากาศ เรียกว่า “ก๊าซเรือนกระจก” หรือ Greenhouse Gases และเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect)
ปรากฏการณ์เรือนกระจกนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกของเรา ในการทำให้อุณหภูมิของโลกเหมาะสมแก่การดำรงชีวิต แต่หากปราศจากกลุ่มก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติเหล่านี้แล้ว โลกของเราจะมีอุณหภูมิลดลงเหลือเพียง –18 องศาเซลเซียสซึ่งไม่อบอุ่นเพียงพอในการอาศัยอยู่สำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ปรากฏการณ์เรือนกระจกในธรรมชาติ เป็นภาวะที่เกิดความสมดุลของพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และพลังงานที่โลกเสียไป แต่หากมีปัจจัยใดๆ ก็ตามที่ทำให้สมดุลพลังงานดังกล่าวเสียไป หรือทำให้การเคลื่อนย้ายถ่ายเทพลังงานในบรรยากาศ และระหว่างบรรยากาศกับพื้นดินและมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป จะมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยหากพลังงานที่โลกได้รับมากกว่าพลังงานที่เสียไป จะทำอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แต่ถ้าพลังงานที่ได้รับน้อยกว่าพลังงานที่เสียไป อุณหภูมิของโลกจะลดลง
ภาวะโลกร้อนกับก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติทำหน้าที่รักษาสมดุลพลังงานโลก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ทำให้สมดุลของการแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างบรรยากาศโลกกับดวงอาทิตย์เสียไป โดยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เพิ่มความเข้มข้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ได้ทำให้ชั้นบรรยากาศมีการกักเก็บรังสีความร้อนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ จนกลายเป็นภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายนานับประการในปัจจุบัน
ตารางที่ 1 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกก่อนยุคอุตสาหกรรมและปัจจุบัน
——————————————————————————–
เมื่อโลกร้อนขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร ?
- เร่งอัตราการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก
การที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งตามที่ต่างๆ ของโลกละลายลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ได้แก่แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ น้ำแข็งบนภูเขาสูงและธารน้ำแข็งในขณะที่ก้อนน้ำแข็งในทะเล แม่น้ำ ทะเลสาบ มีการละลายและมีขนาดลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหิมะในพื้นที่ต่างๆ ก็มีความหนาลดลงทุกปี ซึ่งการละลายของน้ำแข็งและหิมะมากผิดปกติทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาดังนี้
การเพิ่มและขยายตัวของระดับน้ำทะเล
รายงานฉบับที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในระยะสั้นที่ปีละประมาณ 1-2 มิลลิเมตร หรือ 1-2 เซนติเมตรใน 10 ปี โดยคาดการณ์ว่า ในศตวรรษหน้าหรือราวปี 2100 ระดับน้ำทะเลน่าจะสูงขึ้นราว 90 เซนติเมตร อันเป็นผลมาจากทั้งน้ำแข็งละลายและน้ำทะเลอุ่นขึ้นจนมีการขยายตัว
การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร
เมื่อน้ำแข็งละลาย จะมีน้ำจืดเติมลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มขึ้น กลายเป็นชั้นน้ำจืดที่ลอยขวางแนวทางการไหลของกระแสน้ำ กระทบถึงระบบการถ่ายเทความร้อนระหว่างมหาสมุทรต่างๆ อย่างรุนแรง
การกัดเซาะชายฝั่ง
พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลในแต่ละประเทศทั่วโลกมีลักษณะแตกต่างกันทั้งแบบที่เป็นพื้นดิน หิน หรือ ทราย อีกทั้งลักษณะที่เป็นที่ราบแอ่งกระทะ หรือที่ราบหน้าผา ซึ่งลักษณะเหล่านี้
เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้ท่วมพื้นที่ชายฝั่ง
น้ำทะเลจะหนุนขึ้นและไหลท่วมพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่า การกัดเซาะชายฝั่งก็จะรุนแรงขึ้นเนื่องจากความรุนแรงของคลื่นลมที่พัดเข้าชายฝั่ง
- ระบบนิเวศเสียสมดุล
เมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตต่างๆที่อาศัยอยู่บนโลก ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ วงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตจะเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีไปจากเดิมส่งผลทำให้ระบบนิเวศของโลกเสียสมดุลเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
- สภาพอากาศรุนแรง: พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง
เป็นผลกระทบที่เริ่มเห็นได้ชัดขึ้น โดยมีแนวโน้มที่โลกจะเกิดพายุถี่มากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นโดยสาเหตุของความรุนแรงอธิบายได้ในแง่ของพลังงาน คือ เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น พลังงานที่พายุได้รับก็มากขึ้นไปด้วย ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงมากกว่าที่เคย
ภาวะฝนทิ้งช่วงหรือไม่ตกตามฤดูกาลจะพบได้บ่อยมากขึ้น ทำให้บางภูมิภาคของโลกต้องเผชิญกับภาวะอากาศที่แห้งแล้งรวมทั้งการขาดน้ำจืดที่สะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และในบางพื้นที่อาจเกิดไฟป่าที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น
- การขาดแคลนอาหาร
เมื่อโลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้น้ำแข็งเกิดการละลาย น้ำทะเลมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆได้รับผลกระทบเหล่านี้ ซึ่งในการเกิดภัยพิบัตินอกจากจะสร้างความเสียหายในด้านของพื้นที่ที่อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งมาถึงในด้านของอาหารด้วย เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆถูกทำลาย ผัก ผลไม้ล้มตาย เกษตรกรไม่สามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายได้ สัตว์ทะเลอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ประชากรโลกเกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร มีการแก่งแย่งกันมากขึ้น
- โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
ในภาวะโลกร้อนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เอื้อต่อการเกิดวิวัฒนาการของเชื้อก่อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ที่มีการปรับตัวให้แข็งแรงและแพร่กระจาย มีอายุอยู่ภายในพาหะที่เป็นแหล่งรังโรคได้นานขึ้น เช่น เชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบที่มียุงเป็นพาหะ หรือเชื้อไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบโดยมีค้างคาวเป็นพาหะ เมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้เกิดไฟป่า ค้างคาวอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำให้เชื้อขยายพื้นที่การเกิดโรคได้มากขึ้น และติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ สู่คน ได้มากขึ้น ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นใหม่จากการกลายพันธุ์หรือวิวัฒนาการของเชื้อโรคชนิดใหม่นั้นเรียกว่า โรคอุบัติใหม่ แต่สำหรับโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตปัจจุบันเกิดและรุนแรงกว่าเดิมเรียกว่า โรคอุบัติซ้ำ
——————————————————————————–
การชะลอโลกร้อน
- หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน
การหันกลับมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการใช้พลังงานจากชีวมวลแทนการใช้น้ำมัน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำจากเขื่อน หรือ กังหันลม แทนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน เพราะการเผาถ่านหินนั้นส่วนหนึ่งทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน หรือแม้แต่การใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ แทนการใช้น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซลแบบธรรมดาก็สามารถลดการเกิดโลกร้อนได้
- ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงพลังงาน ดังนั้น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะสะสมในชั้นบรรยากาศ
- รักษาและฟื้นฟูป่าและสัตว์ป่า
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะถูกดูดซับโดยพืช ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ดังนั้น ป่าจึงเปรียบเสมือนปอดที่จะคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าจึงจัดเป็นแนวทางลดโลกร้อนแนวทางหนึ่ง
การปรับตัวอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
- การปรับตัวเพื่อรับมือกับการกัดเซาะฝั่งและภาวะน้ำท่วม
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับการัดเซาะชายฝั่งหรือภาวะน้ำท่วมน่าจะเป็ฯการช่วยตัวเองด้วยการเลือกพื้นที่ในการปลูกอาคารบ้านเรือน พร้อมทั้งหาทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการรักษาและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การก่อสร้างแนวกันคลื่นหรือการเติมทรายให้ชายหาด เป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวไม่ถาวรซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากและต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะน้ำทะเลยังคงสามารถกัดเซาะทรายที่เติมได้ ทางที่ดีควรทำควบคู่กับการปลูกป่าชายเลนจึงจะได้ผลดี
- การสร้างเสริมสุขภาพรับมือกับโรคระบาดและโรคต่างๆ
เมื่อเรารู้ว่าอนาคตหรือแม้แต่ปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมีความรุนแรงมากขึ้น การรับมือกับปัญหาที่ดีที่สุดในด้านของเรื่องสุขภาพ คือ การกินอาหารที่ดี สะอาด สุก ไม่ดิบ มีประโยชน์เพิ่มภูมิต้านทานต่อโรค จำพวกอาหารไทย ที่มีเครื่องเทศสมุนไพรต่างๆในด้านของการออกกำลังกาย โดยเราสามารถออกกำลังกายได้ทั้งแบบง่ายๆ เช่น การดูแลสวนครัวของเรา การทำงานบ้าน และการจัดตกแต่งบ้านใหม่ เป็นต้น หรือจะเป็นการออกกำลังกายในแบบปกติทั่วไป เช่น การวิ่ง ลำกระบอง หรือการเข้าฟิตเนตต่างๆ ด้านการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพาหะนำโรค ซึ่งเราสามารถทำได้โดยติดตามข่าวสารการเกิดโรคต่างๆว่าเกิดในพื้นที่ใด สัตว์อะไรเป็นพาหะ ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ถ้าโรคเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง หรือพื้นที่ที่เราอยู่ เราจะได้เตรียมรับมือ และเพิ่มความระมัดระวังได้
- สร้างภูมิคุ้มกันด้านแหล่งอาหาร
การแก้ปัญหาหรืออยู่ร่วมกับปัญหาที่ดีที่สุดคือการสร้างแหล่งอาหารเองไว้ที่บ้านตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง ในด้านของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือทฤษฎีใหม่ ที่ปลูกผัก ผลไม้และเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง พึ่งพาตนเองได้ เป็นการบริโภคที่เพียงพอและยั่งยืน ตามความต้องการด้านปัจจัย 4 ปรับพฤติกรรมลดความฟุ่มเฟือยหรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หันมากินอาหารโดยการเลือกซื้อเลือกใช้ของที่อยู่ใกล้บ้านภายในท้องถิ่นของเรา จะช่วยลดการปล่อยCO2 ที่เกิดจากการเดินทางขนส่ง และยังช่วยประหยัดเงินไว้เป็นค่าดำรงชีวิตในด้านอื่นๆ
- สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการใช้น้ำอย่างพอเพียง
ภาวะโลกรอนมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านการอำนวยน้ำ ซึ่งพบว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศ ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งทุกปี การรับมือกับการขาดแคลนน้ำ นอกจากมีความจำเป็นต้องหาหรือฟื้นฟุแหล่งน้ำตามธรรมชาติด้วยการรักษาหรทิฟื้นฟูป่า หรือจัดการด้วยระบบชลประทานที่เหมาะสม ที่สำคัญคือคนไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับความแห้งแล้งดังกล่าว ด้วยการสร้างนิสียในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ด้วยการลดการสูญเสียรั่วไหลทุกชนิดที่จะเกิดขึ้นจากการใช้น้ำ รวมทั้งการหันมาเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ฝักบัว หรือก็อกน้ำ ประหยัดน้ำเป็นต้น
——————————————————————————–
ทางออกโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง
การใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน คือ ต้องลดใช้พลังงาน และใช้เท่าที่จำเป็น เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามาอาบน้ำควรลดการอาบน้ำร้อน เนื่องจากการเปิดเครื่องทำความร้อน 1 ครั้ง ใช้กำลังไฟฟ้าเท่ากับเครื่องปรับอากาศ ถึง 3 เครื่อง อาบน้ำสบู่ถูตัว ก็ควรใช้ชนิดที่ทำจากสมุนไพร ย่อยสลายได้ สบู่เหลวน่าจะเหมาะที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ทำจากสารเคมี กลิ่นแรง เพราะสบู่เคมีทั่วไปทำจากด่างต้มกับไขมันสัตว์ หรือ จำพวกปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดคราบเกาะตามผนังห้องน้ำ ซึ่งน้ำยาขัดห้องน้ำทุกยี่ห้อมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ดังนั้น หากใช้น้ำส้มสายชูชำระล้างจะปลอดภัยกว่า และเมื่อปล่อยลงแม่น้ำลำคลองก็จะไม่ทำให้น้ำเน่าเสียด้วย นอกจากนี้การแต่งกายก็เช่นกันควรสวมเสื้อผ้าสบายๆ ผู้ชายไม่ต้องผูกเนคไทก็ได้ ส่วนผู้หญิงก็ควรสวมผ้าไทยสบายๆ เลือกแต่งให้สอดคล้องกับสภาพอากาศเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน จะช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้มาก และสำหรับการปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักเที่ยง ถ้าทำได้อย่างน้อย 30 นาทีจะดีมาก หรือการจอดรถเติมน้ำมัน ถ้านานเกิน 30 วินาที ก็ควรดับเครื่อง เพราะการติดเครื่องไว้ขณะจอดเพียง 5 นาที ก็จะสูญเสียน้ำมันอย่างน้อย 100 ซีซี หรือเทียบมูลค่าเท่ากับเงิน 3-6 บาททีเดียว และหลังจากเลิกงานกลับบ้านพักผ่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างทีวี เครื่องเสียง เมื่อไม่ใช้แล้ว ต้องดึงปลั๊กออก เพราะการเสียบปลั๊กทิ้งไว้ จะสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า 8 วัตต์ต่อ 24 ช.ม. การถอดปลั๊กยังปลอดภัยต่อการเสี่ยงถูกฟ้าผ่าด้วย เมื่อถึงเวลาเข้านอน ช่วงนี้อากาศไม่ร้อนมาก อากาศข้างนอกเย็นกว่าในบ้านเสียอีก ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทจะดีกว่า สวมเสื้อผ้าสบายๆ ก็ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น ซึ่งทุการกระทำของเราตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเข้านอนถ้าเราทกระทำบนพื้นฐานของความพอเพียงในทุกด้านแล้วนั้นล้วนแต่เป็นทางที่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้
ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันหาทางชะลอความร้อนดังกล่าวให้ได้
นอกจากจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน