คะน้า Chinese Kale

ชื่อวิทยาศาสตร์  Brassica alboglabraL.H. Bailey

วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ชื่อท้องถิ่นอื่น จีนกวางตุ้งเรียกว่า ไก๋หลาน จีนแต้จิ๋วเรียกว่า กำหนำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พืชปีเดียวไม่มีเนื้อไม้สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร และสูง 1-2 เมตรเมื่อช่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่ ผิวส่วนต่างๆ ของลำต้นมีลักษณะเรียบ และมีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว มีรากแขนงที่แข็งแรง มีลำต้นหลักหนึ่งต้น มีกิ่งแขนงผอมๆ เจริญออกมาทางด้านข้าง หรือส่วนบนของลำต้น การเรียงใบแบบสลับ แผ่นใบหนาแข็งมีก้านใบ ใบกว้างรูปไข่จนถึงเกือบกลม ขอบใบแบบหยักซี่ฟันและมีลักษณะเป็นคลื่นที่โคนใบมีติ่งยื่นออกมาทั้งสองด้าน ใบที่อยู่ทางด้านล่างมีขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว อาจพบดอกสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ดอกมี 4 ส่วนครบ มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน ผลแตกแบบผักกาดค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดมีรอยบุ๋มขนาดเล็ก

คุณค่าทางโภชนาการ

คะน้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 31 กิโลแคลอรี และประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ น้ำ 92.1 กรัม โปรตีน 2.7 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม เส้นใย 1.6 กรัม แคลเซียม 245 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 2512 ไมโครกรัม วิตามินเอ 419 iu. วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม วิตามินซี 147 มิลลิกรัม

เมนูเด็ด

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

คะน้าเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุ วิตามิน และสารอาหารมากมายโดยเฉพาะส่วนยอดของคะน้าสดที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและเกลือแร่ คะน้ายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายอย่าง

  1. ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง คะน้าอุดมไปด้วยวิตามินเอซึ่งมีคุณสมบัติต้านการเกิดเซลล์มะเร็งและยังช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดโอกาสเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ และช่วยลดความเสี่ยงอาการเจ็บป่วยโดยรวมได้ การกินคะน้าเป็นประจำจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ปอด และเต้านม
  2. ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง เนื่องจากเป็นผักที่มีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัส ช่วยเสริมสร้างการสร้างเม็ดเลือดแดงจึงมีส่วนสำคัญในการบำรุงเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังเป็นสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของการสร้างกล้ามเนื้อและบำรุงเนื้อเยื่อต่างๆ
  3. ช่วยป้องกันโรคต้อกระจก คะน้ามีสารลูทีน (Lutein) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในเลนส์ตา การกินคะน้าจึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกลงได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับคนไม่ได้กิน
  4. ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน คะน้ามีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรง จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือเสื่อมในผู้สูงอายุ และยังมีสารอิเล็กโทรไลต์ที่ช่วยเสริมการทำงานของแคลเซียมให้ทำงานเป็นปกติขึ้น พบว่า การกินคะน้า 1 ถ้วย = ดื่มนม 1 แก้ว ดังนั้นถ้าไม่ดื่มนมก็มากินคะน้ากันเถอะ
  5. ช่วยบำรุงผิวพรรณ คะน้ามีวิตามินซีช่วยบำรุงผิวพรรณและมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้เนื้อเยื่อมีความชุ่มชื้นมากขึ้น
  6. ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ คะน้ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานในกับร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ และทำให้มีสุขภาพแข็งแรง
  7. ลดอาการไมเกรน ผักคะน้ามีแมกนีเซียมสูง ซึ่งช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนลงได้
  8. ปรับสมดุลของฮอร์โมน ช่วยรักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ช่วยลดอาการหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวนในสตรีช่วงมีประจำเดือนได้

 

ที่มา : http://xn--12cg7dj6hdl7p.blogspot.com/2013/07/brassica-alboglabra.html

https://www.honestdocs.co/the-benefits-of-chinese-kale

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/vegetables/11.html