ชื่อไทย                  จำปี (White champak)

ชื่อท้องถิ่น             –

ชื่อวิทยาศาสตร์     Magnolia x alba (DC.) Figlar

วงศ์                          MAGNOLIACEAE

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 – 20 เมตร อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน เทา หรือมีหลายสีลวดลายสวยงาม แตกเป็นร่องตื้นๆ ถี่ๆ ตามแนวยาว กิ่งมีขนสั้นนุ่ม

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 5 – 10 เซนติเมตร ยาว 15 – 35 เซนติเมตร โคนใบแหลม หรือรูปลิ่ม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม ยาว 0.7 – 3 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้น เส้นแขนงใบเรียงจรดกันเป็นเส้นขอบใน

ลักษณะดอก ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูป เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 – 7 เซนติเมตร กลีบรวมสีขาว มี 10 – 14 กลีบ รูปใบหอกกลับ ยาว 1.5 – 5 เซนติเมตร เรียงหลายวงยาวเท่าๆ กัน เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รวมแกนอับเรณู ก้านวงเกสรเพศเมียยาว 4 – 7 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอมมากตอนกลางคืน เช้าวันต่อมากลิ่นจะจางลง ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง

ลักษณะผล  ผลกลุ่ม แบบแห้งแก่แล้วแตก รูปกลม หรือรูปไข่ บิดเบี้ยวเล็กน้อย มีช่องระบายอากาศเป็นจุดสีขาวกว้าง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2 – 2.8 เซนติเมตร เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดสีดำ รูปรี 1 – 4เมล็ดต่อผล

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี แต่ออกดอกน้อยในฤดูร้อนและส่วนมากไม่ค่อยติดผล เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม

เขตการกระจายพันธุ์

พบเฉพาะเป็นไม้ประดับ เข้าใจว่าเป็นลูกผสมระหว่าง M. champaca (L.) Baill. ex Pierre กับ M. montana (Blume) Figlar & Noot.

การใช้ประโยชน์           

ใบ: ต้มน้ำดื่มระงับอาการไอ แก้หลอดลมอักเสบและขับเสมหะ ใช้เป็นยาขับระดูขาว มีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ แต่อาจทำให้เป็นหมัน

ดอก: บำรุงหัวใจ น้ำมันจากดอก ทาแก้ปวดศีรษะและตาบวม

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0010″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นจำปี”]