ชื่อไทย                         ชงโค

ชื่อท้องถิ่น                 กะเฮอ สะเปซี เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวหวาน

ชื่อสามัญ                    Orchid tree/ Purple bauhinia

ชื่อวิทยาศาสตร์          Bauhinia purpurea L.

ชื่อวงศ์                         FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นผลัดใบ เปลือกชั้นนอกสีน้ำตาลอ่อน ผิวขรุขระ เปลือกไม่หลุดออก

ลักษณะใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 5-15 ซเซนติเมตร โคนใบเว้า ปลายใบเว้าลึกเข้าประมาณครึ่งหนึ่งของแผ่นใบ ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร  ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวลปกคลุม ใบสีเขียวอ่อน เส้นใบนูนเด่นออกที่โคนใบ 5-9 เส้น ขอบใบเรียบ

ลักษณะดอก ออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะเป็นช่อ มีดอกย่อย 6-10 ดอก ดอกตูมรูปขอบขนานปลายแหลมมีสัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน ผิวมีขนนุ่มสีขาวปกคลุม กลีบเลี้ยงแยกออกเป็นสองปาก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบแยกกัน กลีบดอกกว้าง 1.6 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวถึงสีม่วงเข้ม ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นสีแดง ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-10 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 10 อัน เป็นเกสรที่สมบูรณ์ 3 อัน

ลักษณะผล เป็นฝักแบน กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร ผิวแข็งขรุขระ เมื่อแก่แห้งแตกเป็น 2 ซีก

ระยะการออกดอกติดผล

การติดดอก กันยายน -พฤศจิกายน

เขตการกระจายพันธุ์  

ปากีสถาน อินเดีย สิกขิม ประเทศศรีลังกา พม่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประเทศจีน พบตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย โตช้า เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ระบายน้ำดี ความชื้นสูง แสงแดดจัด ปลูกริมทะเลได้

การใช้ประโยชน์

ใบ มีรสเฝื่อน ต้มกินรักษาอาการไอ
ดอก มีรสเฝื่อน เป็นยาระบายดับพิษไข้
ราก มีรสเฝื่อน ต้มกินเป็นยาระบาย และระบายพิษไข้

แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์