ชื่อไทย ตะคร้ำ (-)
ชื่อท้องถิ่น กะตีบ แขกเต้า ค้ำ หวีด (ภาคเหนือ) มะกอกกาน (ภาคกลาง) อ้อยน้ำ (จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garuga pinnata Roxb.
วงศ์ BURSERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลาง สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มเกือบกลม ลำต้นเปลาตรง โคนต้นแผ่ออกเกือบเป็นพูพอน เปลือกนอกสีเทา – น้ำตาล เป็นปุ่มและมีเกล็ดเล็กๆ เปลือกในเป็นริ้ว สีชมพู เหนียว มีน้ำยางสีชมพู มีขนสั้นนุ่มตามหูใบด้านนอก แกนใบประกอบ ใบประดับช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก
ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปรีถึงรูปใบหอก เบี้ยว ยาว 5 – 13 เซติเมตร อาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร โคนใบใบเบี้ยว ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ ปลายใบสอบ ใบอ่อนสีขาวมีขนสั้นๆ ปกคลุม
ลักษณะดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเหลือง กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกรูปใบหอกกลับ ยาว 5 – 5.5 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศผู้ ยาว 2 – 4 มิลลิเมตร โคนมีขนยาว ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 3 – 5 มิลลิเมตร
ลักษณะผล ผลแบบผนังผลชั้นในแข็ง ทรงกลม เบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร ปลายมีติ่ง ภายในฉ่ำน้ำ มี 1 – 2 เมล็ด
ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม ติดผลเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม
เขตการกระจายพันธุ์
พบในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบกระจายหนาแน่นแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์
เปลือก: มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด
ผล: ใช้เบื่อปลา
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0013″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นตะคร้ำ”]