ชื่อไทย                     ตะลิงปลิง

ชื่อท้องถิ่น                   บลีมิง (นราธิวาส) หลิงปลิง (ใต้)

ชื่อสามัญ                  Bilimbi/ Belimbing/ Cucumber Tree/ Tree Sorrel

ชื่อวิทยาศาสตร์          Averrhoa bilimbi  L.

ชื่อวงศ์                         OXALIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป  ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเรียบสีชมพู กิ่งก้านมีขนนุ่มปกคลุม และเปราะหักง่าย

ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนก ยาว 20-60 เซนติเมตร ใบย่อยเรียงสลับกันเป็นคู่ มี 25-35 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้างประมาณ 5.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ด้านล่างใบมีขนนุ่ม

ลักษณะดอก ออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกสีแดงอมม่วง กลางดอกมีสีนวล กลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนปนแดง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายมน เมื่อดอกบานขนาดผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน สั้น 5 อัน ยาว 5 อัน อยู่สลับกัน

ลักษณะผล สีเขียว รูปกลมยาว ฉ่ำน้ำ ผิวเกลี้ยง กว้าง 2-5 เซนติเมตร  ยาว 4-10 เซนติเมตร เป็นพูตื้นตามยาว 4-5 พู เมื่อผลสุกมีสีเขียวแกมเหลือง รสเปรี้ยวจัด

ลักษณะเมล็ด ลักษณะแบนยาว สีขาว

ระยะการออกดอกติดผล

เกือบตลอดทั้งปี

เขตการกระจายพันธุ์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – อินโดนีเซีย

การใช้ประโยชน์        

ต้น ใช้ต้นอ่อนเป็นยาระบาย

ราก เป็นยาแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยลดไข้ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยแก้โรคริดสีดวงทวาร และบรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังแก้อาการคัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเก๊าท์ได้ด้วย

ใบ มีรสเฝื่อน ใช้ต้มหรือบดชงน้ำร้อนดื่มแก้ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไขข้ออักเสบ แก้กามโรค รักษาสิว รักษาซิฟิลิส แก้คางทูม ตำพอกแก้อักเสบ แก้คัน

ดอก มีรสเปรี้ยวฝาด นำมาชงเป็นชา แก้ไอ

ผล มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้ปรุงรสอาหาร ทำน้ำผลไม้ ทำผลไม้แห้งและแช่อิ่มได้ดี ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย สมานแผล ขับเหงื่อ แก้ปวดกระดูก แก้ไข้ แก้ไอ เป็นยาฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร  คั้นเอาน้ำมาหยอดตา บรรเทาอาการตาอักเสบ น้ำคั้นจากผลใช้ลบรอยเปื้อนบนมือ เสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ ได้ดี

แหล่งข้อมูล: อุทยานหลวงราชพฤกษ์