ชื่อไทย                  ตะแบกนา (Thai crape myrtle)

ชื่อท้องถิ่น             เปื๋อยด้อง เปื๋อยนา เปื๋อยหางค่าง (ภาคเหนือ) ตะแบกไข่ (ราชบุรี ตราด)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Lagerstroemia floribunda Jack

วงศ์                      LYTHRACEAE

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 – 25 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกนอกสีเทาอมขาว แตกร่อนเป็นหลุมตื้นๆ ทำให้ผิวเปลือกด่างเป็นวงกระจายทั่วลำต้น เนื้อไม้ละเอียดแข็ง ใจกลางมักเป็นโพรง

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 5 – 8 เซนติเมตร ยาว 8 – 20 เซนติเมตร โคนใบมนหรือสอบเรียว ขอบใบห่อยกขึ้น ปลายใบมน มีติ่งแหลมเล็ก แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และยานเป็นลอน สีเขียวนวลเป็นมัน ใบอ่อนสีแดงอมชมพู มีขนละเอียดรูปดาว

ลักษณะดอก ช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีม่วงอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีสันนูนตามยาว และมีขนสั้นประปราย ปลายแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอก 6 กลีบ ทรงกลม ออกสลับกับกลีบเลี้ยง โคนคอดเรียวเป็นก้านสั้นๆ กลีบดอกบางยับย่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกกลางพู รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.2 – 2 เซนติเมตร เปลือกเกลี้ยงแข็ง มีกลีบเลี้ยงติดตรงจุกผล เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง แบน มีปีก จำนวนมาก

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม และเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม ติดผลเดือนธันวาคม – เดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมิถุนายน – เดือนสิงบหาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบ ป่าน้ำท่วม ตามท้องนา ที่ความสูง 20 – 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

เนื้อไม้: ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่รับน้ำหนัก และทำเครื่องมือการเกษตร

ราก: แก้แผลในปากและคอ

แก่น: แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

เปลือก: แก้ไข แก้ท้องเสีย

ใบ: ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด ต้มหรือชงแก้เบาหวาน ขับปัสสาวะ

เมล็ด: แก้เบาหวาน นอนไม่หลับ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0011″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นตะแบกนา”]