ชื่อไทย                  ปีบ (Indian cork tree, Tree jasmine)

ชื่อท้องถิ่น             กาซะลอง  กาดสะลอง (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Millingtonia hortensis L. f.

วงศ์                      BIGNONIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ แผ่กว้างและโปร่ง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง เปลือกนอกสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน หนาหยุ่นคล้ายไม้ก๊อก แตกเป็นร่องลึก เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน

ลักษณะใบ ใบประกอบขนนก 2 – 3 ชั้น ปลายใบคี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 1.5 – 3 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 8 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม โคนใบมน หรือเบี้ยว ขอบใบจักเป็นซี่ห่างๆ ปลายใบแหลม แผ่นใบบาง

ลักษณะดอก ช่อดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาว รูปแตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2 – 4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉกตื้นๆ ขอบม้วนออก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 6 – 8 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มี 2 แฉกที่เชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 5 อัน สมบูรณ์ 4 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน เป็นหมัน 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกสองแนว รูปแถบ แบน กว้าง 1.5 – 2 เซนติเมตร ยาว 28 – 36 เซนติเมตร ฝักโค้งเล็กน้อย ปลายและโคนแหลม เมล็ดแบน มีปีกบาง จำนวนมาก

ระยะเวลาการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์ ติดผลเดือนพฤศจิกายน – เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

            พบได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ขึ้นกระจายในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามชายป่า ที่ความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพราะมีรูปทรงสวยและดอกก็มีกลิ่นหอม

เนื้อไม้:  ใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งภายในอาคาร

เปลือก: ทำจุกก๊อกขนาดเล็ก

ราก:  เป็นยาสมุนไพรบำรุงปอด แก้วัณโรค หอบเหนื่อย และปอดพิการ

ดอก:  ตากให้แห้งแล้วนำมาซอยผสมกับยาเส้น สูบทำให้ชุ่มคอ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0016″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นปีบ”]