เทศกาลปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการเริ่มต้นใหม่ที่หลายคนรอคอย เป็นโอกาสดีที่จะได้พบปะสังสรรค์กับครอบครัวและคนรัก แต่ในขณะเดียวกัน การเฉลิมฉลองปีใหม่ก็มักมาพร้อมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การทิ้งเศษอาหารจำนวนมาก และมลพิษจากการจุดพลุเฉลิมฉลอง ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อโลกของเราอย่างมหาศาล

ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ในช่วงเทศกาลสำคัญทั่วโลก ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นถึง 30-50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ซึ่งรวมถึงเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์จากของขวัญ และขยะจากงานปาร์ตี้ นอกจากนี้ International Council on Clean Transportation (ICCT) ยังพบว่า การเดินทางทางอากาศในช่วงเทศกาลเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ปีใหม่ 2568 จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมาร่วมกันเริ่มต้นปีใหม่แบบรักษ์โลก และสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

  1. เลือกของขวัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การให้ของขวัญปีใหม่เป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญในเทศกาลนี้ แต่ของขวัญที่ถูกห่อด้วยกระดาษและพลาสติกมักกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาอันสั้น เราจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกของขวัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ของขวัญทำมืออย่างสบู่หรือแชมพูสมุนไพร หรือเครื่องประดับจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ แต่ยังสร้างคุณค่าและความหมายให้กับผู้รับ นอกจากนี้ การมอบของขวัญสีเขียวอย่างต้นไม้เล็ก ๆ หรือเมล็ดพันธุ์พืชยังช่วยส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก อีกทั้งยังสามารถเลือกของขวัญที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระบอกน้ำสแตนเลส หรือกล่องข้าวสแตนเลส ซึ่งเป็นของใช้ที่มีประโยชน์และช่วยลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

  1. การจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การจัดงานเลี้ยงปีใหม่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างขยะจำนวนมาก หากเราปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดงานโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การใช้วัสดุตกแต่งจากธรรมชาติแทนการใช้ลูกโป่งหรือพลาสติก เช่น ดอกไม้ ใบไม้ หรือวัสดุรีไซเคิลที่สามารถย่อยสลายได้เอง นอกจากนี้ การวางแผนปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ร่วมงานยังช่วยลดขยะอาหารที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก FAO ระบุว่า ขยะอาหารคิดเป็น 8-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างคุ้มค่าจะช่วยลดการสูญเปล่าทั้งอาหารและทรัพยากรการเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้แทนการใช้จานพลาสติกและแก้วพลาสติกจะช่วยลดขยะอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การนำเครื่องดื่มแบบ Refill Station หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่มาบริการในงาน ยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหากมีเศษอาหารเหลือจากงาน สามารถนำไปบริจาคหรือทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ยังส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า

  1. เดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในช่วงปีใหม่

การเดินทางกลับบ้านหรือไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเป็นเรื่องปกติของทุกคน แต่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยเลือกวิธีการเดินทางที่ยั่งยืน เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า รถบัส หรือรถไฟ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนต่อระยะทางได้ดีกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว สำหรับการเดินทางระยะใกล้ การใช้จักรยานหรือการเดินเท้าในระยะทางใกล้ๆเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษและยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพอีกด้วย หากต้องขับรถยนต์ส่วนตัว ควรหันมาปรับเปลี่ยนนิสัยการขับขี่ให้ประหยัดพลังงาน เช่น หลีกเลี่ยงการเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและตรวจเช็คลมยางและสภาพเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเดินทางร่วมกันแบบ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกันก็จะช่วยลดจำนวนรถบนท้องถนนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่ง

ปีใหม่นี้ ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ดีในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นถือเป็นการให้ของขวัญที่ยิ่งใหญ่แก่โลกของเรา การเลือกของขวัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดงานเฉลิมฉลองที่ลดขยะ และการเดินทางที่ลดคาร์บอนล้วนเป็นการกระทำเล็ก ๆ ที่รวมกันแล้วสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ ปีใหม่ 2568 นี้ มาร่วมกันสร้างปีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของเรา เพราะการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง ด้วยแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รักษ์โลก และส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้คนรุ่นหลัง

“ปีใหม่นี้ เริ่มต้นด้วยความสุขที่แท้จริง พร้อมดูแลโลกของเราให้สวยงามตลอดไป”


เอกสารอ้างอิง

  1. World Bank. (2018). What a Waste 2.0: A Global Snapshot of Solid Waste Management to 2050. Retrieved from https://openknowledge.worldbank.org
  2. International Council on Clean Transportation (ICCT). (2020). CO emissions from commercial aviation, 2013–2018.
  3. FAO. (2019). The State of Food and Agriculture: Moving Forward on Food Loss and Waste Reduction.
  4. International Energy Agency (IEA). (2021). Transport: Tracking Progress. Retrieved from https://www.iea.org