พระทรงเป็นนักอนุรักษ์
ข่าวคราวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ยากจะหาสิ่งใดเปรียบ สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับประชาชนทั่วผืนแผ่นดินไทย กับการสูญเสียกษัตริย์ผู้มีเมตตาอันกว้างใหญ่ไพศาล สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมขอน้อมลำลึกถึงคุณความดีอันยิ่งใหญ่ของท่านในแง่การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและสานต่อพระราชดำริให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและโลกใบนี้สืบต่อไป
การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
น้ำ คือ ปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต และเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมมีความผูกพันธ์กับการใช้น้ำในการเพาะปลูกตลอดเวลา ดังนั้นท่านจึงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก โดยท่านเคยทรงพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” สำหรับโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- การทำฝนเทียมหรือฝนหลวง
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรักษาต้นน้ำลำธาร
- โครงการจัดการทรัพยากรน้ำในลักษณะ เขื่อนระบายน้ำ งานขุดลอกหนองบึง
- โครงการบำบัดน้ำเสียโดยกังหันชัยพัฒนา
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้ คือ แหล่งต้นน้ำที่สำคัญและยังเป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้เราหายจน ตลอดจนช่วยป้องกันอุทกภัยร้ายแรง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ท่านทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่า ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่กล่าวถึง การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างว่า “การ ปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ” นับว่าเป็นพระราชดำรัสที่สะท้อนถึงการมองการอนุรักษ์อย่างเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน ถือได้ว่าเป็นอัฉริยภาพที่น่ายกย่องและนำไปเป็นแบบอย่างเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับโครงการการอนุรักษ์ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ยกตัวอย่างเช่น
- ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ศูนย์การศึกษาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการพัฒนาป่าชายเลน
การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน
ดิน คือ ฐานรากสำคัญที่จะช่วยหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตต่างๆดำรงอยู่ได้ ฉะนั้นการอนุรักษ์ดิน ก็เปรียบเสมือนการรักษาชีวิตต่างๆที่อยู่บนดินให้อยู่รอดได้เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านใด้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ดินดังพระราชดำริตอนหนึ่งว่า “…การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน…” ( สำนักงาน กปร., ๒๕๔๒)
แนวทางตามพระราชดำริของท่าน ยกตัวอย่างได้ดังนี้
- การแก้ปัญหาดินเปี้ยวด้วยวิธีการแกล้งดิน
- การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพดิน
การอนุรักษ์ดิน น้ำและป่าไม้ถือเป็นตัวอย่างตามแนวทางพระราชดำริ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับปวงชนชาวไทยมหาศาล สมาคมฯขอน้อมนำความดีของท่านมาเผยแพร่และศึกษาเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสืบไป
ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาลัย ส่งเสด็จฯสู่สวรรคาลัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://web.ku.ac.th/king72/