มะพร้าว
ชื่อไทย มะพร้าว (Coconut)
ชื่อท้องถิ่น ดุง เฮ็ดดุง โพล คอส่า พร้าว หมากอุ๋น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L.
ชื่อวงศ์ ARECACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น สูง 20-30 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกต้นแข็ง สีเทา ขรุขระ มีรอยแผล
ลักษณะใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียน รูปพัดจีบ กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 80-120 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน โคนก้านใบใหญ่แผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น
ลักษณะดอก ออกเป็นช่อแขนงตามซอกใบ ดอกเล็ก กลีบดอกที่ลดรูปมี 4-6 อัน ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ไม่มีก้านดอก
ลักษณะผล รูปทรงกลมหรือรี ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลสีขาวนุ่ม ข้างในมีน้ำใส
ระยะการออกดอกติดผล
–
เขตการกระจายพันธุ์
อเมริกา อินเดีย มาดากัสการ์ และเอฟริกา ชาวสเปนเป็นผู้นำไปปลูกยังหมู่เกาะเวสท์อินดีส และทะเลแคริเบียนตอนใต้ ชาวยุโรปนำไปปลูกในประเทศบราซิล และชาวโพลิเนเซียนนำไปยังเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค
ประเภทการใช้ประโยชน์
เนื้อมะพร้าว : มีสีขาว ใช้สด หรือหั่นฝอย ใส่น้ำเคี่ยว เอาน้ำมันมะพร้าวเก็บไว้ใช้ หรือตากแห้ง บีบและเคี่ยวเอาน้ำมันเก็บไว้ใช้ น้ำมันใหม่ ๆ จะมีกลิ่นหอม น้ำมันมะพร้าวในที่อุ่นจะเหลวใส ในที่เย็นจะข้นขาวคล้ายเนยแข็ง มีกลิ่นเฉพาะตัว
น้ำ : น้ำมะพร้าว ใช้ดื่มรับประทาน แก้กระหาย
กาบมะพร้าว : ตากแห้งแล้วนำไปเผาไล่ยุง
กะลา : ตากแห้ง นำมาประยุกต์เป็นเฟอร์นีเจอร์
แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ / สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้