มะเฟือง
ชื่อไทย มะเฟือง (Carambola)
ชื่อท้องถิ่น สะบือ (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L.
ชื่อวงศ์ OXALIDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มแน่น
ลักษณะใบ ไม่มีหูใบ ใบประกอบปลายคี่ ส่วนมากมีใบย่อย 5–6 คู่ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4-10 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ยาวได้ถึง 7 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 3-6 มิลลิเมตร มีข้อที่ใต้ดอก ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีคล้ายกลีบดอก ดอกสีแดงอมชมพู มี 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 5-6 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเหนือก้านกลีบ ด้านในมีขนต่อมประปราย เกสรเพศผู้ 10 อัน อันยาว 5 อัน เป็นหมัน 5 อัน รังไข่ส่วนมากมี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 3-5 เม็ด เกสรเพศเมีย 5 อัน
ลักษณะผล หยักเป็นร่องลึกตามยาวเป็นสัน 5 พู ผิวบางเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง
ลักษณะเมล็ด ภายในมีเมล็ดรูปรีแบน สีน้ำตาล
ระยะการออกดอกติดผล
ตลอดทั้งปี
เขตการกระจายพันธุ์
มีการกระจายพันธุ์ในประเทศเขตร้อน พบตามป่าที่เปิดโล่ง ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 1000 ม.
การใช้ประโยชน์
ใบ แก้ไขหวัด ไข้หวัดใหญ่ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปวด
ใบและยอด บดละเอียด ทาตามตัวแก้อีสุกอีใส
ใบและผล ต้มเป็นยาแก้อาเจียน
ดอก ต้มดื่มถอนพิษเฮโรอีน แก้ไข้
ผล แก้คอแห้ง ลดการอักเสบ บวม แก้อาเจียน ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้บิด ขับระดู ใช้สระผมดีบำรุงเส้นผม กำจัดรังแคได้ ลดไข้ ล้างพิษและช่วยให้อสุจิแข็งแรง น้ำคั้นจากผลมะเฟืองและตะลิงปลิงใช้ลบรอยเปื้อนบนมือ เสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ ได้ดี
เมล็ด แก้ปวด ทำให้นอนหลับ ทำให้อาเจียน แก้ดีซ่าน
ราก ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดแสบกระเพาะอาหาร ลดจุกแน่นหน้าอก ใช้ตากแห้ง 5 กรัม ชงน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เจ็บเส้นเอ็น
ยอด ต้มผสมกับรากมะพร้าว ดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่
หมายเหตุ
ผลมะเฟืองมีกรดออกซาลิกค่อนข้างสูง ไม่ควรกินติดต่อกันนานเพราะจะทำให้เป็นฝ้า และไม่ควรกินขณะมีประจำเดือน สตรีมีครรภ์จะทำให้แท้ง
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช / อุทยานหลวงราชพฤกษ์