ชื่อไทย         ลำดวน (White cheesewood)

ชื่อท้องถิ่น    หอมนวล (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Melodorum fruticosum Lour.

วงศ์   ANONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม ขนาดใหญ่ สูง 8 – 10 เมตร อาจสูงได้ถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย แน่นทึบ  ลำต้นเปลาต้นตรง เปลือกนอกสีน้ำตาล เรียบ หรือแตกเป็นร่องตามยาว

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 – 3 เซนติเมตร ยาว 7 – 12 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นเรียวแหลม แผ่นใบบางแต่เหนียว สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นกลางใบสีเหลืองนวล ก้านใบสีน้ำตาลแดง

ลักษณะดอก ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกหนาและแข็ง 6 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกรูปไข่ ปลายแหลม แผ่กางออก ปลายกลีบงุ้มเข้า กลีบดอกชั้นในงุ้มเข้า เรียงชิดติดกันเป็นทรงกลม ดอกหอมในตอนเย็นถึงเช้า ดอกบานประมาณ 2 สัปดาห์ มีกลิ่นหอมเย็น

ลักษณะผล ผลกลุ่ม มีเนื้อหนึ่งเมล็ด เรียงอยู่บนแกนตุ้มกลม 15 – 20 ผล ผลย่อยรูปกลมรี กว้าง 0.6 เซนติเมตร ยาว 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมดำ เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน มีเนื้อห่อหุ้ม รสหวานอมเปรี้ยว

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ติดผลเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม

เขตการกระจายพันธุ์

มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบอินโดจีน ขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบแล้งทั่วๆ ไป ที่มีความสูง 50 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

ดอก: รสหอมเย็น เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0027″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นลำดวน”]