ชื่อไทย                         สารภี

ชื่อท้องถิ่น                 สารภีแนน (เชียงใหม่) ทรพี สารพี (จันทบุรี) สร้อยพี (ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์          Mammea siamensis T.Anderson

ชื่อวงศ์                    CALOPHYLLACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป  ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 12-20  เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง ขรุขระเล็กน้อย เปลือกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ผิวเปลือกมีสีน้ำตาล แตกกิ่งแน่น ปลายกิ่งมักห้อยลงลำต้นและกิ่งมียางสีเหลืองหรือขาว

ลักษณะใบ  ใบรูปไข่ปลายมนกว้าง บางทีปลายใบเว้าลงเล็กน้อย ใบแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่บริเวณกิ่ง โคนใบสอบเรียวแหลมถึงก้านใบ เนื้อใบหนาเกลี้ยงสีเขียว ขนาดความกว้างของใบประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-12 เซนติเมตร

ลักษณะดอก  ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ตามกิ่ง มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีขาวกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เส้นเล็ก ๆ เป็นวง มีสีเหลือง ขนาดดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร

ลักษณะผล  ผลกลมเป็นรูปกระปุกเล็ก ผิวเรียบสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เนื้อในมีรสหวาน ขนาดผลยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ระยะการออกดอกติดผล

เขตการกระจายพันธุ์  

พม่า ไทย อินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย พบประปรายในป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 20-400 เมตร

ประเภทการใช้ประโยชน์       

ดอก รสหอมเย็น จัดอยู่ในเกสรทั้งห้า ใช้บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้พิษร้อน  ใช้ผสมในยาหอมแก้ลม วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย แก้ร้อนใน ชูกำลัง บำรุงหัวใจและประสาท บำรุงปอด แก้โลหิตพิการ ขับลม ฝาดสมาน รักษาธาตุไม่เป็นปกติ

เกสร รสหอมเย็น เป็นยาแก้ไข้ บำรุงครรภ์รักษา ทำให้ชื่นใจ 

ผลสุก รสหวาน รับประทานได้ เป็นยาบำรุงหัวใจ ขยายหลอดโลหิต

แหล่งข้อมูล : สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้