ชื่อไทย        อินทนิลน้ำ (Pride of India, Queen’s crape myrtle)

ชื่อท้องถิ่น   อินทนิล ตะแบกดำ (กรุงเทพมหานคร) บางอบะซา (นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.

วงศ์    LYTHRACEAE

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 – 24 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลมแผ่กว้าง เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ มีรอยด่างเป็นดวงสีขาว  เปลือกในส้ม หรือน้ำตาลอ่อน

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง 6 – 10 เซนติเมตร ยาว 11 – 26 เซนติเมตร โคนใบมนหรือกลม ขอบใบเรียบห่อยกขึ้น ปลายใบแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล มีขนละเอียดรูปดาว

ลักษณะดอก ช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือขาว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย มีสันนูนตามยาว และมีขนสั้นประปราย ปลายแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอก 6 กลีบ ทรงกลม โคนคอดเรียวเป็นก้านสั้นๆ กลีบดอกบางยับย่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกกลางพู รูปไข่ กว้าง 1.5 – 2 เซนติเมตร ยาว 2 – 2.5 เซนติเมตร เปลือกแข็ง ผิวเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดตรงจุกผล เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง แบน มีปีก จำนวนมาก

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม ติดผลเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน

เขตการกระจายพันธุ์

มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบตามที่ราบลุ่มริมน้ำ ในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบ ที่ความสูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

ราก: แก้แผลในปากและคอ

แก่น: แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

เปลือก: แก้ไข แก้ท้องเสีย

ใบ: ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด ต้มหรือชงแก้เบาหวาน ขับปัสสาวะ

เมล็ด: แก้เบาหวาน นอนไม่หลับ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0034″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นอินทนิลน้ำ”]