9 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์
- ข้อมูลทั่วไป: เขื่อนแม่วงก์มีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 13,000 ไร่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชรและ จ.นครสวรรค์ปริมาณกักเก็บน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ประมาณการค่าก่อสร้างของเขื่อนแม่วงก์ เมื่อปี 2525 อยู่ที่ 3,761 ล้านบาท 2551 มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท ในเว็บไซด์ของกรมชลประทานในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ระบุว่ามีมูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการอนุมัติงบประมาณ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 มีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท
- ถึงแม้ว่าพื้นที่น้ำท่วมจะเป็นแค่ 2% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือ 0.12% ของป่าตะวันตกทั้งหมด แต่พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการหากินและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าในฤดูแล้ง ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือป่าในพื้นที่ราบอยู่น้อยมาก สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกยูง ไม่สามารถบินขึ้นไป อาศัยอยู่บนเขาได้อย่างที่นักการเมืองเข้าใจ แต่นกยูง ต้องการลานหิน ลานทราย ริมน้ำเพื่อการ ป้อตัวเมีย ไม่สามารถไปกางหางอวดในป่ารกทึบได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯพบว่าป่าที่นักการเมืองกล่าวอ้างว่าเป็นป่าใหม่มีอายุไม่ถึง 30 ปีมีอยู่เพียงไม่กี่พันไร่ แต่ป่าด้านใน เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์มาก ในการสร้างเขื่อนต้องทำการตัดไม้ออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย น่าสนใจว่าไม้ขนาดใหญ่ (ซึ่งรวมถึงต้นสักด้วย) จะตกเป็นผลประโยชน์ของใคร
- การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบ เทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็น ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ป่าแม่วงก์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างน้อย 549 ชนิด และมีปลาอาศัยอยู่ในลำน้ำ 64 ชนิด (ใน EIA รายงานไว้ 61 แต่สำรวจเจอเพิ่มจากการลงพื้นที่อีก 3 ชนิด) ในจำนวนนี้มีเพียง 8 ชนิด หรือ 13% ที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในอ่างเหนือเขื่อนได้นอกนั้นต้องอาศัยพื้นที่น้ำไหลหรือน้ำหลากซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติข้อมูลจาก: ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน (http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html)
- จากเว็บไซด์ของกรมชลประทาน ลุ่มน้ำแม่วงก์มีพื้นที่รับน้ำฝน (water shed) 1,113 ตารางกิโลเมตร มีน้ำท่า 569 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือมีน้ำ 0.52 ล้าน ลบ.ม./1 ตร.กม. ของพื้นที่รับน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำทับเสลาซึ่งมีเขื่อนทับเสลาอยู่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำฝน 534 ตร.กม. แต่มีน้ำท่า 124 ล้าน ลบ.ม. หรือมีน้ำ 0.23 ล้าน ลบ.ม./1 ตร.กม. ข้อสังเกตคือ พื้นที่ใกล้ๆกัน เขื่อนทับเสลาอยู่ทางใต้ของแม่วงก์เพียง 40 กม.ทำไมพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่วงก์(ต่อ ตร.กม.)จึงมีน้ำมากกว่าพื้นที่รับน้ำของเขื่อนทับเสลาสองเท่ากว่าทั้งๆที่อยู่ในแนวเขาเดียวกัน ปริมาณฝนตกไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ปีพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำมาก เขื่อนทับเสลามีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 49 ล้าน ลบ.ม. หรือ 31% ของความจุ และในปัจจุบัน ณ วันที่ 5 พค. 2555 ซึ่งเป็นปลายฤดูแล้งที่ควรจะมีการจัดส่งน้ำให้ทำการเกษตรในหน้าแล้ง ปรากฏว่ามีน้ำในอ่างที่ใช้การได้จริงเพียง 34 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% ของความจุเท่านั้น
- การช่วยบรรเทาน้ำท่วม: เขื่อนแม่วงก็มีอัตราการเก็บน้ำสูงสุดที่ 250 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคกลางเมื่อปลายปี 2554 มีถึง 16,000 ล้าน ลบ.ม. (ตัวเลขจาก ศปภ.) น้ำที่กักเก็บได้ทั้งหมดของเขื่อนแม่วงก์จึงคิดเป็นเพียงแค่ 2% ของปริมาณน้ำที่ท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางในช่วงปลายปี 2554 หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่ไหลเข้าทุ่งเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำไหลเข้ามากที่สุดเพียงแค่ ครึ่งวันกว่า เขื่อนแม่วงก์จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้น้อยมาก นอกจากนั้นแม้แต่พื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ.ลาดยาว เขื่อนแม่วงก์ก็ช่วยเรื่องน้ำท่วมหลากได้เพียง 25% เนื่องจากน้ำที่ท่วม อ.ลาดยาวจริงๆแล้วมาจาก หลายสาย และเป็นน้ำไหลบ่าจากทุ่ง ไม่ใช่จากน้ำแม่วงก์สายเดียว ทั้งนี้การบริหารจัดการเขื่อน ต้องคงเหลือน้ำไว้ในเขื่อนส่วนหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขื่อนแม่วงก์จะสามารถรับน้ำได้เต็ม 250 ล้าน ลบ.ม. ทุกปี
- รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ทั้ง 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2538, 2541, 2545 และ 2547ไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุให้กรมชลประทานไปหาวิธีจัดการน้ำแบบบูรณาการมากกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรายงานการศึกษาฉบับที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มีมูลค่าวงเงินตามสัญญา ประมาณ 15 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มไม่โปร่งใส เนื่องจากมีการลัดขั้นตอน ตัดลดจำนวนการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบางรายการ นอกจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 23 มีค. 2555 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่า และ พันธุ์พืช จะพิจารณาให้ดำเนินการได้
- กรมชลประทานระบุว่าเขื่อนแม่วงก์จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 291,900 ไร่ พื้นที่ในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ จากการลงพื้นที่ ปรากฏว่าในฤดูฝน ชาวบ้านใช้น้ำฝนและน้ำหลากทุ่งในการทำการเกษตรอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนแต่อย่างใด ประโยชน์ของน้ำชลประทานจากเขื่อนจึงเหลือแต่ในฤดูแล้ง ซึ่งจากการคำนวณ โดยใช้สมมุติฐานว่า
8.1 ชาวบ้านปลูกข้าวได้ 0.75 ตัน/ไร่
8.2 ขายข้าวได้ราคาปกติ 8,000 บาท/ตัน
8.3 ขายข้าวได้ราคาจำนำ(เฉลี่ย) 14,000 บาท/ตัน
8.4 มีต้นทุนการเพาะปลูก 3,000 บาท/ไร่
8.5 ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่ (0.75*8,000)-3,000 = 3,000 บาท/ไร่ (ราคาปกติ)
8.6 ชาวบ้านจะมีกำไร/ไร่ (0.75*14,000)-3,000 = 7,500 บาท/ไร่ (ราคาจำนำ)
8.7 ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 3,000 = 349.64 ล้านบาท (ราคาปกติ)
8.8 ชาวบ้านในพื้นที่ชลประทานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น = 116,545 (ไร่) * 7,500 = 874.09 ล้านบาท (ราคาจำนำ)
8.9 ทำให้โครงการมูลค่า 13,000,000,000 บาทมีระยะเวลาคืนทุน 37 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ โดยยังไม่คิดถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำ ทั้งนี้การลงทุนทั่วไป ควรมีระยะคืนทุนอยู่ระหว่าง 4-7 ปี และ 7-10 ปีในโครงการขนาดใหญ่
8.10 เขื่อนแม่วงก์จะมีค่า IRR ในกรณีข้าวราคาปกติที่ -5% ในระยะเวลา 20 ปี และ 3% ในระยะ 20 ปีที่ราคาจำนำ ทั้งนี้ในปัจจุบัน การลงทุนส่วนใหญ่ควรมีค่า IRR ในช่วงระยะเวลา 10 ปีอยู่ระหว่าง 5-10% จึงจะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (การคำนวนยังไม่ได้นำค่าใช้จ่ายในการดูและและซ่อมบำรุงเขื่อนและระบบส่งน้ำเข้ามารวม)หมายเหตุ: ตัวเลขจากกรมชลประทานระบุว่าจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ได้ประมาณ 720 ล้านบาท/ปี คิดเป็น ระยะเวลาคืนทุน 18 ปี IRR เมื่อ 20 ปี =1% - ผลโพล 7 สี ถามคนใน จ.นครสวรรค์ว่าต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ปรากฏว่ามี 22.7% ต้องการเขื่อน 32.5% ต้องการเขื่อนถ้าไม่มีผลกระทบโดยรวม และ 34.2% ไม่ต้องการเขื่อน ในขณะที่ 10% ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่เองส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่ต้องการเขื่อนเลยหรือไม่ต้องการถ้าส่งกระทบต่อส่วนรวม ทั้งนี้ป่าไม้ มิได้เป็นสมบัติของคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ที่มีการใช้ “บริการทางอ้อม” จากป่าไม้ร่วมกัน เช่นใช้เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น การจะทำลายป่าไม้จึงต้องคำนึงถึง “คนนอกพื้นที่” ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่
เรียบเรียง: ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ @ siamensis.org
ข้อมูลจาก: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ มูลนิธิโลกสีเขียว