ขานาง

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Homalium tomentosum (Vent.) Benth.

วงศ์ : Salicaceae

คุณลักษณะ

ไม้ต้น ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ ใบรูปไข่กลับ ปลายมนมีติ่งแหลม แผ่นใบด้านบนมีขนสั้นสาก ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ดอกออกเป็นกระจุกสั้น ๆ เรียงเวียนบนแกนช่อ ห้อยลง ยาว 10–35 ซม. แต่ละกระจุกมี 2–5 ดอก ไร้ก้าน มีกลิ่นเหม็น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5–6 กลีบ คล้ายกัน หลอดกลีบเลี้ยงรูปกรวย เชื่อมติดรังไข่เกินกึ่งหนึ่ง กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 มม. ติดที่ขอบหลอดกลีบเลี้ยงระหว่างกลีบ มีขนคล้ายขนแกะ เกสรเพศผู้ 5–6 อัน ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง จานฐานดอกเป็นต่อม ก้านเกสรเพศเมีย 2–3 อัน ติดทน ผลแห้งแตก รูปกรวยกลับ กลีบเลี้ยงขยายคล้ายปีก

การกระจายพันธุ์

อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค

เกร็ดความรู้

ลำต้นเรียว เปลือกเรียบสีขาวนวล เป็นที่มาของชื่อ “ขานาง”

แหล่งที่มา

สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) ฯ; Flora of Thailand Vol. 13 part 1: 47.