พุดจีบ

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult.

วงศ์ : Apocynaceae

คุณลักษณะ

ไม้พุ่ม กิ่งเกลี้ยง ใบเรียงตรงข้าม ยาว 4–15 ซม. มีแผ่นคล้ายหูใบตามซอกใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาว 6–10 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนด้านในมีแผ่นเกล็ด ดอกรูปดอกเข็ม มี 5 กลีบ เรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบดอกเรียวแคบ มีขนรอบเกสรเพศผู้ กลีบยาว 0.8–2.6 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้จุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก โคนอับเรณูเว้ารูปหัวใจ ไม่แนบติดเกสรเพศเมีย ผลแตกแนวเดียวออกเป็นคู่ เบี้ยว มีสันตามยาว ยาว 2.2–4.5 ซม. มี 2–10 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

การกระจายพันธุ์

อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ และลาว ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ

เกร็ดความรู้

เป็นไม้ประดับ มีทั้งต้นแคระ ใบด่าง และดอกซ้อน

แหล่งที่มา

สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) ฯ