พัฒนาทักษะชีวิตผ่านค่ายรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
ในสภาวะสังคมปัจจุบันที่ดูเหมือนมีทุกอย่างเพียบพร้อม เทคโนโลยีถูกพัฒนาเพื่อสร้างความสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดูเหมือนเป็นหลุมดำของความสะดวกสบาย คือ เราได้สูญเสียทักษะชีวิตที่เกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองไปหลายๆอย่างโดยที่ไม่รู้ตัว หันไปดูเด็กๆที่อยู่รอบตัวจะพบว่าทักษะบางอย่างที่ดูว่าเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว เช่น การตักข้าวทานเอง,การล้างจานเอง,การกวาดบ้าน,การอาบน้ำเอง หรือแม้กระทั่งการก้มลงผูกเชือกรองเท้ายังกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กบางคน ยังไม่รวมถึงการไปอยู่กับเพื่อนๆให้ได้โดยที่ไม่ไปโวยวายหรือแย่งของคนอื่นเขาจนเข้ากับเพื่อนๆไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ ทักษะชีวิต นั้นเอง
เรื่องของทักษะชีวิตนั้นไม่สามารถจะบ่มเพาะผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลเหล่านี้ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงโลกเห็นความเป็นจริง
ปัจจุบันเนื้อหาความรู้ต่างๆพร้อมที่จะให้เด็กๆได้เรียนรู้ ผ่านทางออนไลน์ เหมือนที่เรียกกันเล่นๆว่า อาจารย์กู(เกิล) หรือ อาจารย์ยู(ทูบ) มีความรู้มากกมายอยากรู้อะไรแค่ค้นหาก็ได้รู้แล้ว แต่เรื่องของทักษะชีวิตนั้นไม่สามารถจะบ่มเพาะผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลเหล่านี้ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงโลกเห็นความเป็นจริงที่เด็กๆต้องลงมือทำอย่างมีความสุข จนมีแรงจูงใจที่จะทำซ้ำๆ สุดท้ายกลายเป็นความเคยชินและกลายเป็นทักษะติดตัวในที่สุด
แนวทางในการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆนั้นจะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ในครอบครัว เริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การตักข้าวทานเอง,อาบน้ำเอง เริ่มจากรับผิดชอบตัวเองจากนั้นค่อยต่อยอดไปสู่เรื่องความรับผิดชอบที่เป็นส่วนรวม เช่น การกวาดบ้าน,ซักผ้า,ทำกับข้าว แต่คุณพ่อคุณบางบางคนก็มองกว้างขึ้นว่าอยากให้ลูกๆได้ฝึกทักษะชีวิตแบบสังคมวงกว้างขึ้น แปลกใหม่และมีความท้าทายมากขึ้น ทางเลือกหนึ่งทางที่มักหนึ่งถึง คือ การส่งคุณลูกเข้าค่ายพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานมากมายที่ทำเรื่องนีได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ
30 ปีที่ผ่านมาศูนย์รวมตะวันได้มีการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้จัดทำเป็นค่ายอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีการบูรณาการเกี่ยวกับทักษะชีวิตให้เด็กๆได้ฝึกปฏิบัติตลอด 3 วัน 2 คืนโดยหากอ้างถึงองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาทักษะชีวิตตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สรุปไว้ มีประเด็นที่น่าสนใจที่กิจกรรมในศูนย์ฯมีความสอดคล้องกับการพัฒนาทักษะชีวิตมีดังนี้
- ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) กิจกรรมเกมส์ในสถานีมักจะมีโจทย์ท้าทายความคิดและการตัดสิน ให้เด็กๆได้ฝึกการตัดสินใจและยอมรับผลที่ตัวเองตัดสินใจด้วยเหตุผลที่พี่ๆที่ศูนย์รวมตะวันเตรียมเฉลยไว้ให้ เช่น กิจกรรม พีระมิดสิ่งมีชีวิต ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจในเวลาจำกัดเพียง 10 วินาทีเพื่อที่จะเลือกสิ่งที่ถูกต้อง
- ทักษะการแก้ไขปัญหา(Problem Solving) กิจกรรมหลายๆกิจกรรมที่ศูนย์รวมตะวันจะต้องใช้ทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น กิจกรรมฮูลาฮูบ ที่เด็กๆทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจที่จะให้ห่วงปัญหาผ่านพ้นตัวเองผ่านการเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาเทคนิคการแก้ปัญหาจนปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ
- ทักษะความคิดสร้างสรรค์(Creative thinking) กิจกรรมอย่าง The Tower ที่ศูนย์รวมตะวันจะต้องอาศัยความร่วมมือของทีม การแบ่งงานและที่สำคัญคือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้หอคอยที่ร่วมแรง ร่วมใจ ให้หอคอยมีความมั่นคงที่สุดและสูงที่สุด
- ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) น้องๆที่มาที่ศูนย์จะต้องระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการรับประทานอาหาร จะต้องวิเคราะห์ดีๆว่าจะตักข้าว ตักน้ำ มากน้อยเพียงใดเพื่อไม่ให้เหลือเป็นขยะ ทางศูนย์ฯจะมีการชั่งขยะทุกมื้อเพื่อเก็บข้อมูลนำไปเฉลยวันสุดท้าย และอีกหนึ่งกิจกรรม คือ อาหารจานเด็ด LCA ที่จะต้องพิจารณาการหาวัตถุดิบ กระบวนการทำอาหาร ภาชนะใส่อาหาร ตลอดจนสิ่งที่เหลือจากการทำอาหาร น้องๆจะต้องใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการพิจารณาเพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
- ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ(Effective communication) หนึ่งในกิจกรรมที่มีอย่างสม่ำเสมอที่จัดขึ้นที่ศูนย์รวมตะวัน คือ การนำเสนอ เด็กๆจะได้ผลัดเปลี่ยนหมันเวียนมานำเสนองานต่างๆที่พี่ๆได้มอบหมายให้ ผ่านการวิเคราะห์และสรุปออกมา ฉะนั้นเด็กๆจะได้ฝึกเรื่องทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี
- ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship) ที่ศูนย์รวมตะวันจะมีการจัดกลุ่มด้วยเทคนิคที่จะทำให้น้องๆที่มาด้วยกันแยกออกจากกันไปอยู่ในกลุ่มอื่นๆ ให้รู้จักเพื่อนใหม่ และกิจกรรมต่างๆจะเน้นการทำงานเป็นทีมทำให้น้องๆได้มีโอกาสสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน เรียนรู้ที่จะเสียลละ แบ่งงานกันทำ ดูแลกันและกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
- ทักษะการระหนักรู้ในตน (Self awareness) ศูนย์รวมตะวันเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มจากตนเอง จากเรื่องเล็กๆใกล้ตัว ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสิ่งแวดล้อมก่อน ฉะนั้นในสถานีการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการ พลังงานไฟฟ้า น้ำและขยะ จะเน้นประเด็นที่ง่าย ใกล้ตัว กลับไปที่บ้านที่โรงเรียนสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ
- ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) การจัดน้องๆให้เข้ากลุ่มและการจัดกิจกรรมที่เน้นความเป็นทีมจะทำให้น้องๆได้ฝึกทักษะการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ความต้องการของคนอื่น เพื่อสร้างความเข้าใจผู้อื่น มองความแตกต่างว่าเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ อย่างกิจกรรม walk rally เปิดโลกพลังงาน ที่เราจัดรถประเภทต่างๆให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบ และด้วยความแตกต่างของน้องๆ มีสูง มีเตี้ย จึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยที่จะไปด้วยกันบนรถที่มีข้อจำกัดให้ได้
- ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion) กิจกรรมหลายกิจกรรมที่ศูนย์รวมตะวันจะมีความยากง่ายต่างกันไป เช่น กิจกรรมช่องว่างแห่งการอยู่รอด (Space for the living) เป็นการใช้สภาวะกดดันภายใต้พื้นที่ที่จำกัดที่จะต้องให้น้องๆได้อยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด หลายคนอาจจะเครียดนี้คือบทเรียนที่น้องๆจะต้องฝึกจัดการกับอารมณ์ตัวเองและมุ่งมั่นในเป้าหมายจนสามารถประสบความสำเร็จได้
- ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress) นอกจากกิจกรรมการให้ความรู้แบบเข้มข้น พี่ๆที่ศูนย์รวมตะวันยังคั่นเวลา คลายอารมณ์น้องๆด้วยสันทนาการที่จะทำให้น้องๆไม่เครียดจนเกินไป ฝึกให้น้องๆได้มีการจัดการความเครียดไปในตัว เช่น การร้องเพลงประกอบท่าเต้น
ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่จะกระตุ้นและพัฒนาทักษะชีวิตที่สอดแทรกในกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นที่ศูนย์รวมตะวัน เราเชื่อว่าเมื่อเด็กๆได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่ศูนย์รวมตะวันจะเกิดแรงบันดาลใจและมีโอกาสฝึกทักษะชีวิตอย่างเต็มที่
หากโรงเรียนหรือหน่วยงานใดสนใจให้สมาคมฯจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านค่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อมสามารถดูรายละเอียดได้ที่ 02-408-1600 หรือ 096 – 6421093หรือเข้าชมค่าใช้จ่ายที่ หลักสูตรพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์รวมตะวัน