หญ้าแฝก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chrysopogon zizanioides) เป็นพืชที่มีระบบรากลึกและแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายขอบแหลม ยาว 35-80 เซนติเมตร มีส่วนกว้าง 5-9 มิลลิเมตร สามารถขยายพันธุ์ที่ได้ผลรวดเร็ว โดยการแตกหน่อจากลำต้นใต้ดิน ในบางโอกาสสามารถแตกแขนงและรากออกในส่วนของก้านช่อดอกได้ เมื่อหญ้าแฝกโน้มลงดินทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นกอหญ้าแฝกใหม่ได้ หญ้าแฝกมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ

  • หญ้าแฝกดอน รากไม่มีกลิ่น, ใบโค้งงอ, สูงประมาณ 100-157 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย
  • หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
  • หญ้าแฝกหอม มีรากที่มีกลิ่นหอม, ใบยาวตั้งตรง, สูงประมาณ 150-200 เซนติเมตร

ข้อมูลจาก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หญ้าแฝก เป็นพืชที่เจริญเป็นกอ สามารถพบได้ในสภาพธรรมชาติทุกภาคของประเทศ บางแห่งเจริญอยู่อย่างหนาแน่น บางแห่งกระจายอยู่ทั่วไป แต่จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างต้นหญ้าแฝก ยังไม่พบว่า บริเวณใดมีลักษณะของการเจริญเหมือนหญ้าที่เป็นวัชพืชโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ การนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดิน และรักษาสภาพแวดล้อม จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นวัชพืชในพื้นที่ สำหรับหญ้าแฝกเป็นพืชที่เจริญเติบโตโดยการแตกกอ เส้นผ่าศูนย์กลางของกอประมาณ 30-40 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ใบหญ้าแฝกมีลักษณะแคบประมาณ 0.6-1.0 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 50-75 เซนติเมตร การเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าแนวข้าง มีระบบรากยาวหยั่งลึก 1.5-3.0 เมตร แต่แผ่ขยายด้านข้างเพียง 50-60 เซนติเมตร สามารถเก็บกักน้ำและความชื้นได้ดี

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก

๑. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น        ไม่แผ่ขยายด้านข้าง

๒. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก

๓. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี

๔. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้

๕. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย

๖. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ

๗. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์

๘. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป

๙. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

โครงการหญ้าแฝก

การชะล้างพังทลายของดิน เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนี่งของประเทศ มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ  เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อประโยชน์อื่น ๆ

 

 

 

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่การเกษตร
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
๑. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน ๔-๖ เดือน
๒. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน ๒ เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
๓. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ๒.๕ เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป
๔. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตรสำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน
๕. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
๖. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง ๑ แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๑-๒ แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

วิธีการดูแลหญ้าแฝก
๑.รักษาความชื้นในดิน หลังจากปลูกเสร็จต้องกักเก็บความชื้นในดินไว้นาน 15 วัน ด้วยการดูแลรดน้ำตามปกติอย่าปล่อยให้ดินแห้ง
๒.ตัดใบในฤดูฝน ในหน้าฝนช่วงต้น ควรตัดใบให้ยาวแค่ 5 เซนติเมตร เพื่อให้แตกหน่อ ส่วนช่วงกลางฤดูควรตัดใบให้ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร เพื่อให้ได้กอที่แน่นหนาสามารถรับน้ำไหลผ่านได้ และในช่วงปลายฤดู

๓.แนะนำให้ตัดใบสั้นเหลือเพียง 5 เซนติเมตร เพื่อให้ใบแตกออกในช่วงหน้าแล้ง
ดูแลทั่วไป รดน้ำตามปกติ ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และปลูกหน่อใหม่เพื่อซ่อมแซมหน่อแก่ในช่วงฤดูฝน ให้ต้นเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมใช้งาน