ชำมะเลียง
ชื่อไทย ชำมะเลียง (Luna nut)
ชื่อท้องถิ่น ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน (ภาคกลาง)/ โคมเรียง (ตราด)/ ผักเต้า มะเถ้า (ภาคเหนือ)/ ภูเวียง (นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-7 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล
ลักษณะใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 5-7 คู่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 7-21 เซนติเมตร ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน ขอบใบและแผ่นใบเรียบหนา สีเขียวเข้ม ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน มีหูใบเป็นแผ่นเกือบกลม กว้าง 2.0-3.5 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ออกเป็นช่อห้อยตามกิ่งและลำต้น มีสีม่วง และพบได้น้อยที่เป็นดอกสีขาวหรือสีเหลือง ช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ดอกแยกเพศ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปเกือบกลม กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกบานกว้าง 5-7 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5-8 อัน รังไข่มี 2 ช่อง
ลักษณะผล รูปไข่ถึงรูปกลมรี ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ผลสดสีเขียวอมแดง เมื่อผลสุกเป็นสีแดงถึงสีม่วงดำ
ลักษณะเมล็ด รูปเกือบกลม แบนด้านข้าง มี 2 เมล็ด
ระยะการออกดอกติดผล
มิถุนายน-ธันวาคม
เขตการกระจายพันธุ์
ประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามแนวชายป่าหรือริมลำธาร พบที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1000 เมตร
การใช้ประโยชน์
ราก : มีรสเบื่อจืดขมเล็กน้อย เป็นยาแก้พิษไข้ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ไข้กำเดา ไม่ผูกไม่ถ่าย แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย
ใบ : ใบอ่อน ใช้ประกอบการทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงเลียง
ผล : ผลแก่ มีรสฝาดหวาน รับประทานได้ คนโบราณให้เด็กดินแก้โรคท้องเสีย
แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์