กระพี้เขาควาย

ชื่อไทย                         กระพี้เขาควาย (Burmese Rosewood)

ชื่อท้องถิ่น                 กำพี้ (เพชรบูรณ์) เก็ดเขาควาย เก็ดดำ (เหนือ) กระพี้ (กลาง)  อีเม็งใบมน (อุดรธานี) เวียด จักจัน (ฉาน เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์          Dalbergia cultrata Graham ex Benth.

ชื่อวงศ์                         FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นผลัดใบขนาดกลางถึงใหญ่ ความสูง 10-25 เมตร

ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ช่อใบยาว 10-15 เซนติเมตร แต่ละใบมีใบย่อย 7-11 ใบ ใบและใบย่อยเรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบย่อยกลมหรือเว้าบุ๋ม ส่วนกว้างสุดของใบย่อยจะค่อนไปทางปลายใบ ฐานใบย่อยมนหรือกลม ใบย่อยสีเขียวเข้ม ขอบใบมักม้วนเข้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อยทางด้านท้องใบ ใบแห้งจะมีสีน้ำตาล

ลักษณะดอก ช่อดอกแบบแยกแขนง เกิดตามกระจุกง่ามใบ ใกล้ยอด ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกรูปถั่ว ดอกสีขาว

ลักษณะผล ฝักหรือฝีกแบบถั่ว เมื่อแก่จะแห้งไม่แตก ฝักแก่จะมีสีน้ำตาล รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายฝักกลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด เปลือกของฝักบริเวณที่มีเมล็ด มีเส้นแขนงแบบตาข่ายชัดเจน

ลักษณะเปลือก เปลือกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเปลือกนอกสีเทาอ่อนหรือสีนวล ๆ เปลือกในสีแดง

ระยะการออกดอกติดผล       

ออกดอก มีนาคม-เมษายน ฝักแก่ สิงหาคม-ตุลาคม ผลัดใบ พฤศจิกายน-มกราคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฝักแก่ประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ผลัดใบระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

การใช้ประโยชน์

เครื่องจักสานและเครื่องใช้สอย,เนื้อไม้แข็งมาก ทนทาน เลื่อยไสกบตบแต่งค่อนข้างยาก แต่ขัดมันได้ดี เนื้อไม้สวยงาม ทำเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่ต้องการความสวยงาม เครื่องประดับบ้านชั้นสูง เครื่องกลึง แกะสลัก ด้ามเครื่องมือ เช่น ปืน ฆ้อน ขวาน หอก มีด คันซอ ไม้ถือ พานท้ายปืน เสา บุผนัง ส่วนประกอบของเกวียน เพลา ใบพัดเรือ กระสวย กลอง โทน จะเข้ ขลุ่ย รางและลูกระนาด กรับ ฆ้องวง ตัวแคน ลักษณะคล้ายไม้สาธรซึ่งใช้แทนกันได้

แหล่งข้อมูล : สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้