พะยอม
ชื่อไทย พะยอม
ชื่อท้องถิ่น กะยอม ขะยอมดง แคน พะยอมดง พะยอมทอง ยางหยวก สุกรม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ความสูง 15-30 เมตร เป็นไม้กึ่งผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง
ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบแบบขอบขนาน ขนาดของใบ 3.5-4 x 8-10 เซนติเมตร ขอบใบเป็นคลื่นและมีขนสั้น ๆ และอ่อนนุ่มติดตามขอบใบ ฐานใบแหลม หรือทู่ ปลายใบแหลม เนื้อใบบาง ท้องใบมีขนนิ่ม หลังใบมีขนนิ่มในใบอ่อน ขนสีเขียวปนน้ำตาล ไม่มีหูใบ เส้นใบโค้งแบบคันศร เส้นแขนงใบ 15-20 คู่ ท้องใบสีน้ำตาล
ลักษณะดอก ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง (panicle) ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีน้ำตาลอมเขียวหรือสีคล้ำ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ส่วนปลายกลีบจะหยักเป็นฟันเลื่อย กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ โคนกลีบซ้อนทับกัน ปลายกลีบดอกจะแยกและจีบเวียนตามกัน กลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม เกสรเพศผู้จำนวน 15 อัน อยู่รวมเป็นกระจุกรอบเกสรเพศเมีย เกสรเพศเมียมีรังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมี 2 ออวุล ออกดอกในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
ลักษณะผล ผลแห้งและไม่แตก ผลผิวแข็ง รูปกระสวยปลายแหลม มีปีก 5 ปีก ที่เจริญมาจากส่วนของกลีบเลี้ยงและแยกจากตัวผล ปีกยาว 3 ปีก ขนาด 1 x 8-10 เซนติเมตร ปีกสั้น 2 ปีก ยาว 6 เซนติเมตร เส้นปีกตามยาวมี 7-9 เส้น ฐานของปีกจะเรียบและหุ้มตัวผลมิด ปีกสีน้ำตาลแดง ตัวผลสีน้ำตาล มีผลระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม
ลักษณะเปลือก เปลือกนอกสีน้ำตาล แตกแบบสี่เหลี่ยม เปลือกในสีน้ำตาลอ่อนปนเหลืองและมีทางสีน้ำตาลแก่ผ่าน
ระยะการออกดอกติดผล
–
เขตการกระจายพันธุ์
ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60-1,200 เมตร
การใช้ประโยชน์
ดอก แก้ไข้ ยาหอมไว้แก้ลม บำรุงหัวใจ
เปลือกต้น สมานแผลลำไส้ แก้ท้องเดิน ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ สมานบาดแผล ชำระบาดแผล
ยอดอ่อนและเปลือก เป็นยาสมานแผล ทำยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน
ชันไม้ ใช้เป็นน้ำมันชักเงา และยาเรือ
แหล่งข้อมูล : สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้