กันเกรา
ชื่อไทย กันเกรา (Tembusu)
ชื่อท้องถิ่น ตำเสา (ระนอง) ทำเสา(ใต้) มันปลา (เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb
ชื่อวงศ์ LOGANIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 25 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ ทรงพุ่มแน่นปลายกิ่งลู่ลง เปลือกสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นร่องลึกตามยาว
ลักษณะใบ ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ออกเวียนตามปลายกิ่ง ใบรูปรี โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบหนาและเรียบ ผิวใบเรียบเป็นมัน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-13 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.6-1.8 เซนติเมตร มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็ก ๆ
ลักษณะดอก ดอกเป็นช่อกระจะแยกแขนง ออกดอกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ออกดอกหนาแน่นเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ยาว 5-15 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเหลือง 5 กลีบ เชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว 2-3 มิลลิเมตร ดอกมีสีขาวเมื่อเริ่มบาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อใกล้จะร่วงจะมีสีเข้มขึ้น ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปแจกัน ยาว 1.2-2.2 เซนติเมตร ปลายดอกแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวพ้นปากหลอด 1.8-2.3 เซนติเมตร มียอดเกสรเพศเมียบวมพอง
ลักษณะผล ทรงกลม ผลอ่อนสีส้ม เมื่อแก่เต็มที่เปลี่ยนเป็นแดงอมส้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 มิลลิเมตร ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก มีรสขม
ลักษณะเมล็ด มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก สีน้ำตาลไหม้
ระยะการออกดอกติดผล
การติดดอก เมษายน-พฤษภาคม
การติดผล มิถุนายน-สิงหาคม
เขตการกระจายพันธุ์
ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเชีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขึ้นตามที่ราบต่ำที่ชื้นแฉะ โล่ง บนดินร่วนปนทรายที่ชื้นแฉะ ป่าบึงน้ำจืดและที่ต่ำชื้นแฉะใกล้น้ำ
การใช้ประโยชน์
ใบ เป็นยาแก้ไข้จับสั่น บำรุงธาตุ แก้หืด รักษาโรคผิวหนังพุพอง
แก่น มีรสมันฝาดขม แก้ไข้จับสั่น หืดไอ แก้ริดสีดวง แก้ท้องมาน แก้ลงท้อง มูกเลือด แก้แน่นอก โลหิตพิการ ขับลม แก้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังและร่างกาย บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ
ช่อดอก ชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเก็บช่อดอกมากำบูชาพระ
เนื้อไม้ นิยมใช้ทำเสาบ้านหมอนรางรถไฟ เครื่องเรือน
ผล รสฝาดขม ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น หืด ไอ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก เป็นมูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน
ไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำหีบจำปาใส่ศพ ทำกระดูกงูโครงเรือ เสากระโดงเรือ ใช้เข้ายา บำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น เปลือกบำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน
แหล่งข้อมูล: อุทยานหลวงราชพฤกษ์