ปิดเทอมเวียนมาอีกครั้ง และนับเป็นช่วงเวลาดีๆที่จะใช้โอกาสนี้ที่คุณพ่อคุณแม่จะพาคุณลูกออกหาประสบการณ์ดีๆร่วมกัน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคุณลูกอาจจะเครียดอยู่กับการเรียนออนไลน์ เครียดอยู่กับการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดโรคโควิด 19 เครียดสะสมจนส่งผลให้เกิดผลเสียต่อทางร่างกายขึ้น เช่น สมาธิสั้น โรคอ้วน ความเครียด โรคซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้ส่งผลที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของคุณลูกที่รัก หรือทางนักเขียนชาวอเมริกันนามว่า Richard Louv ผู้เขียนหนังสือ The Nature Principle และ Last Child in the Woods ให้นิยามสิ่งนี้ว่า โรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder (NDD))

ในโอกาสนี้ทางทีมงานสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นโอกาสอันดีในการจัด Eco Talk  ตอน “ปิดเทอม ปิดตำรา พาลูกสู่ห้องเรียนธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยมีแขกพิเศษ 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวน้องเจไดและครอบครัวเมฆานุวัฒน์ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้พาน้องๆเข้าหาธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง จนกล่าววได้ว่าธรรมชาตินั้นเป็นได้ทั้งบทเรียน พี่เลี้ยง และเป็นสิ่งที่เชื่อมสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เน้นเฟ้นมากยิ่งขึ้น

ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้กล่าวในคลิปตอนต้นรายการถึงช่องว่างระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์ไม่เข้าใจถึงวงจรการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติใกล้ตัวเพราะนับวันยิ่งห่างธรรมชาติมากขึ้น ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างในการสร้างความเข้าใจกับธรรมชาติให้มากขึ้นเพื่อเป็นต้นทุนในการเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของผู้ปกครอง

ดร.ธนวันต์ ได้กล่าวว่า  “เราจะต้องเติมเต็มลดช่องว่างของความไม่เข้าใจให้หายไปแล้วสร้างความเข้าใจใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา และเพื่อประโยชน์จุนเจือให้กับลูกหลายที่เรารักทั้งหลายให้เติบโตไปด้วยความพร้อม เพื่อใช้ความรู้และปัญญาตอบคำถามเกี่ยวกับอนาคตของตนเองได้ดีกว่า”

เด็กจะอยู่รอดปรับตัวได้ดีในอนาคตเมื่อเด็กเข้าใจและเห็นคลื่นในการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติที่ใกล้ตัวเข้ามาและจะปรับตัวได้ดีกว่าการไม่เข้าใจธรรมชาติเลย

 

👨‍👨‍👦‍👦✍️💚 วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปธรรมชาติจึงห่างออกไป👨‍👨‍👦‍👦✍️💚

เสียงสะท้อนจากคุณพ่อคุณแม่แสดงให้เห็นถึงภาพอดีตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การกินอยู่แม้กระทั่งการเล่นในรูปแบบต่างๆล้วนแล้วแต่ให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง และสิ่งแวดล้อมยังคงมีมลพิษเจือปนอยู่น้อย ไม่เหมือนในปัจจุบัน

“เมื่อก่อนสมัยเด็ก สังคมมีความใกล้ชิดกัน ได้เล่นกับเพื่อนตลอดเวลา ครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ เวลาเล่นมักจะเป็นของเล่นจากธรรมชาติ เช่น โดดยาง หรือ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง” แม่เปิ้ล จากครอบครัวเมฆานุวัฒน์ เล่าให้ฟัง

“รู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อก่อนฝุ่น PM เราไม่เคยเจอ อากาศร้อนเราก็ไม่เคยเจอตอนเด็กๆ ผมว่าโลกมันกำลังส่งสัญญาณบอกอะไรบางอย่างกับเราแล้วละ” คุณพ่อน้องเจไดได้กล่าวเสริม

เป็นการเปิดฉากฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของวิถีชีวิตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ที่มีความใกล้ชิตกับธรรมชาติและกับสังคมอย่างสม่ำเสมอแต่พอเปลี่ยนผ่านมายังรุ่นลูกมีหลายๆอย่างที่เป็นเหมือนกำแพงกั้นให้ลูกห่างจากธรรมชาติและสังคมออกไป เช่น โทรศัพท์มือถือ การอยู่แต่ในบ้านอันเนื่องมากจากความกลัวต่อการเสี่ยงติดโควิด จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองครอบครัวเริ่มลุกขึ้นมาพาลูกออกสู่ธรรมชาติ

👨‍👨‍👦‍👦✍️💚คุณพ่อคุณแม่คือประตูบานแรกก่อนออกสู่ธรรมชาติ👨‍👨‍👦‍👦✍️💚

จากการพูดคุยจะเห็นถึงจุดที่คล้ายคลึงกันของทั้ง 2 ครอบครัว คือ การที่คุณพ่อคุณแม่มีความชอบธรรมชาติเป็นทุนเดิม เมื่อมีโอกาสจึงพาลูกๆออกไปท่องเที่ยวธรรมชาติ

คุณแม่เปิ้ล ได้เล่าให้เราฟังว่า “ที่บ้านชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ชอบเดินป่าตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เราก็มองว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ดีๆสำหรับเด็กๆด้วย ซึ่งมากกว่าการไปเที่ยวทั่วไปเราก็พาเขาไปสัมผัสกับธรรมชาติแบบพาไปกิน ไปนอนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น”

และนอกเหนือจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่แม่เปิ้ลแชร์มา คือ การปล่อยให้คุณลูกเล่นอย่างอิสระ (Free Play) โดยตัวเด็กสามารถออกแบบการเล่นได้เองและไม่ต้องใช้อุปกรณ์ประกอบมากมาย นอกจากการใช้ประสาทสัมผัสของตัวเองสัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้เด็กๆได้มีพัฒนาการเป็นไปอย่างธรรมชาติและเด็กๆได้มีโอกาสเลือกเองได้ดั่งใจ จุดนี้สามารถช่วยในการฝึกการควบคุมและบังคับตัวเองได้อย่างดี

สำหรับครอบครัวน้องเจได คุณแม่ไผ่ได้เล่าให้ฟังว่า “ปกติเวลาเที่ยวจะไม่ชอบไปเที่ยวห้าง มักจะไปเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติที่เปิดโล่งมากกว่า และพอดีกับทางน้องเจได้เรียนเกี่ยวกับธรรมชาติในห้องเรียนด้วยจึงพาน้องออกไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติบ่อยๆ ซึ่งเวลาออกเที่ยวมักจะพกกล้องและคู่มือดูนกไปด้วย และถ้าได้เจอนกที่เคยเรียนน้องเจไดจะตื่นเต้นมาก”

จุดนี้แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมต่อให้องค์ความรู้ที่ลูกเรียนจากในห้องเรียนออกสู่นอกห้องเรียนซึ่งถือเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ลดช่องว่างของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

👨‍👨‍👦‍👦✍️💚ออกสู่ธรรมชาติได้มากกว่าการเรียนรู้👨‍👨‍👦‍👦✍️💚

การพาลูกๆออกสู่ธรรมชาตินอกจากการได้สัมผัสกับธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นแล้ว เมื่อย้อนกับมาในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ธรรมชาติยังเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ให้โดยที่บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัว

คุณแม่เปิ้ล เล่าเพิ่มเติมมาก ทริปที่ประทับใจที่สุด คือ ทริปตอนไปเชียงใหม่ที่ดอยอินทนนท์ ตอนนั้นเด็กๆยังตัวเล็กกันอยู่ บรรยากาศดีและภาพบรรยากาศละลานตา เดินกันอย่างเพลิดเพลิน แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในระหว่างทาง คือ การได้ใส่ใจดูแลกันถึงแม้ว่าความเป็นจริงของธรรมชาติอาจจะไม่ราบรื่นดั่งใจเรา แต่นั้นคือสิ่งที่เป็นบททดสอบให้เราได้มอบความรักให้กัน ในส่วนของครอบครัวน้องเจได ในระหว่างทริปได้มีความรู้สึกผูกพันธ์กับธรรมชาติรวมถึงได้มีโอกาสใกล้ชิดและร่วมแบ่งปันกันในระหว่างทางมากขึ้นเช่นกัน เหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้อย่างที่เราไม่รู้ตัว

👨‍👨‍👦‍👦✍️💚เมื่อมือถือคืออุปสรรคในบ้าน จะจัดการอย่างไร👨‍👨‍👦‍👦✍️💚

ในระหว่างรายการฯมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่เจอกันบ่อยๆในปัจจุบัน มีการร่วมแบ่งปันข้อมูลได้น่าสนใจเผื่อจะนำไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กติดมือถือกันต่อไป

“ตอนที่ลูกเด็กๆ 2-3 ขวบ เราแทบจะไม่เปิดทีวีเลย ลูกก็ไม่ได้ดูด้วย แต่พอเริ่มโตขึ้นลูกอยากดูการ์ตูน เราจะมีข้อตกลงร่วมกันซึ่งต้องคุยกับลูกแบบเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย เด็กๆจะได้มีโอกาสรับผิดชอบในเรื่องเวลาของเขาเอง” คุณแม่เปิ้ลแบ่งปันประสบการณ์

“ปกติพ่อแม่จะไม่ค่อยเล่นมือถือ อย่างลูกจะใช้ก็ต่อเมื่อเรียนออนไลน์หรือส่งงาน และถ้าลูกอยากดูการ์ตูนเราจะมีการตกลงร่วมกันว่าวันธรรมดาดูได้ 40 นาทีส่วนวันเสาร์ อาทิตย์อาจจะให้เวลาเยอะหน่อย แต่ที่สำคัญ คือ ต้องจัดกการเรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น ทานข้าว ทำการบ้าน ดูแลไก่ให้เรียบร้อย” คุณพ่อคุณแม่น้องเจไดได้ร่วมแชร์ประสบการณ์เพิ่มเติม

เท่าที่สังเกตในเรื่องของการจัดการเรื่องโทรศัพท์มือถือ คือ  คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ห้ามให้เล่นแบบเด็ดขาดแต่ใช้วิธีการให้ลูกมีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่าใช้วิธีประนีประนอมในการจัดการ คุณพ่อคุณแม่ใช้เหตุผลในการจัดการได้เป็นอย่างดี และสิ่งสำคัญ คือ การควบคุมการเล่นมือถือของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการการเล่นมือถืออย่างพอเหมาะได้เช่นกัน

👨‍👨‍👦‍👦✍️💚ธรรมชาติให้อะไรกับเราบ้าง👨‍👨‍👦‍👦✍️💚

ช่วงสุดท้ายของรายการทั้งสองครอบครัวได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้สังเกตลูกๆหลังจากได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

“เท่าที่สังเกตน้องเวลาที่เขาไปเข้าค่ายที่โรงเรียนจัด คือ เขาจะดูแลตัวเองได้ดีขึ้นในเวลาที่ไม่มีพ่อแม่ เขาจะสังเกตและระแวดระวังด้วยตัวเองได้ดีขึ้น เขาค่อนข้างจะห่วงใยธรรมชาติ ค่อนข้างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เขาเป็นเด็กที่อ่อนโยนมากขึ้น” คุณแม่เปิ้ลได้กล่าวไว้

“2-3 ปีที่ผ่านสังเกตว่าน้องเจได อ่อนโยนและรักธรรมชาติมากขึ้น เราหวังว่าความอ่อนโยนเหล่านี้จะส่งไปยังเพื่อนๆคนอื่นๆได้ดีขึ้น” คุณพ่อน้องเจไดร่วมแชร์ประสบการณ์

      คุณพ่อคุณแม่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะเป็นผู้เติมเต็มช่องว่างความรู้และความรักต่อธรรมชาติให้กับลูกหลาน โดยตัวคุณพ่อคุณแม่เองจะต้องมีองค์ความรู้และความซาบซึ้งเห็นคุณค่าต่อธรรมชาติก่อนจึงจะสามารถส่งผ่านไปยังลูกหลานต่อได้ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและศูนย์รวมตะวันขอเป็นหนึ่งในส่วนเติมเต็มช่องว่างนี้โดยโปรแกรม Eco Learning ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆตามความต้องการของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบค่าย,รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ การศึกษาดูงาน โดยหากสนใจรายละเอียดสามารถติดต่อฝ่ายประสานงานได้ที่เบอร์โทร โทร 096 – 6421093 หรือ 02-408-1600  (จ-ศ 08.00-17.30 น.) หรือผ่านทางอินบ๊อกซ์ facebook ศูนย์รวมตะวัน : m.me/ruamtawancenter


👨‍👨‍👦‍👦✍️💚 สามารถชมแบบเต็มรายการได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ 👨‍👨‍👦‍👦✍️💚