ความรุนแรงของภาวะโลกรวนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นแสดงออกมาเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างผลกระทบเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยสาเหตุสำคัญมากจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ โดยจาการสำรวจของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนเแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change ) ระบุว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมาจากส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ภาคพลังงานและความร้อน
ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อน คิดเป็น 25% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ
2. ภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ได้แก่ การเพราะปลูก และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าด้วย รวมๆแล้ว มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกไปจากกิจกรรมเหล่านี้ถึง 24% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมปริมาณ CO2 ที่สะสมอยู่ในธรรมชาติ ในรูปของมวลชีวภาพและอินทรียวัตถุ รวมถึงที่สะสมอยู่ในดินอีก 20%
3. ภาคอุตสาหกรรม
เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต และการปล่อยมลพิษจากกระบวนการทางเคมี และการจัดการขยะ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมแล้ว 21%
4. ภาคคมนาคม ขนส่ง
ประกอบไปด้วย การขนส่งทางรถยนต์ ทางราง ทางอากาศ และทางเรือ ซึ่งกว่า 95% ของการขนส่งทั่วโลก ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนใหญ่จะเป็นพวกน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมแล้ว 14 %
5. กิจกรรมอื่นๆ
ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ไม่เกี่ยวข้องกับ การผลิตไฟฟ้า การแปรรูปน้ำมัน และการคมนาคม ขนส่ง แต่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการใช้ชีวิตของเรา มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมแล้ว 10 %
6. การใช้พลังงานในอาคาร
เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อนในอาคารหรือการใช้เชื้อเพลิงในการหุงต้มภายในบ้าน มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมแล้ว 6 %
หากทุกภาคส่วนมีการร่วมมือกันเพื่อช่วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในแง่ของการใช้เทคโนโลยีและที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามุ่งสู่การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบต่อความอยู่รอดของเราต่อไป
อ้างอิง: https://actionforclimate.deqp.go.th/wp-content/uploads/2021/03/CCManual-compress.pdf