ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูง PM2.5 ไม่เพียงแต่ทำลายคุณภาพอากาศ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด PM2.5 นั้นมากมาจากการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า ดังนั้นการลดการใช้พลังงานจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5

การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน แม้ว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จะมีการเติบโตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่สัดส่วนการผลิตพลังงานจากฟอสซิลยังคงครองส่วนแบ่งใหญ่ ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้มากที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61.67 % (ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เดือนพฤศจิกายน 2567) ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานอันดับสองที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19.51 %(ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เดือนพฤศจิกายน 2567)  การเผาไหม้ถ่านหินปล่อย PM2.5 โดยตรงในปริมาณมาก รวมถึงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ PM2.5 ในอากาศ ผลกระทบจากถ่านหินจึงเป็นประเด็นสำคัญในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น แม่เมาะ จังหวัดลำปาง แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะช่วยลดการปล่อย PM2.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ในปี 2565 สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานฟอสซิล การขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ต้นทุนการผลิตและการจัดเก็บพลังงาน

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นมีความรุนแรงถึงขั้นไปสู่การเสียชีวิต งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล (2564) ระบุว่าการได้รับ PM2.5 ในระยะยาวเชื่อมโยงกับโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอด ในกรุงเทพมหานครผู้คนที่อาศัยใกล้กับแหล่งผลิตไฟฟ้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 30% ต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยการลดความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืช และทำให้ดินและน้ำเสียหายจากการสะสมของมลพิษมากขึ้นอีกด้วย

จากกรณีศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นตัวอย่างชัดเจนของผลกระทบจาก PM2.5 ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า นวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2562) พบว่าในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงถึง 80 µg/m³ ซึ่งเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ 25 µg/m³ ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วยอัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นกว่า 40% เด็กและผู้สูงอายุในพื้นที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคหอบหืดสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ

การลดการใช้พลังงานเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม แนวทางได้แก่การปรับเปลี่ยนทั้งเชิงเทคโนโลยีและพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน เช่น ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศทีให้หมาะสม (25-27 องศาเซลเซียส) การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในครัวเรือนและอาคารสำนักงาน การลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมโดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ใช้ระบบควบคุมการใช้พลังงานแบบอัจฉริยะ (Smart Energy Management) นอกจากนี้ การสร้างจิตสำนึกและการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้าในโรงเรียนและชุมชน และมีการบูรณาการเนื้อหาเกี่ยวกับพลังงานและ PM2.5 ในหลักสูตรการศึกษา ทั้งในหลักสูตร กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมถึงการสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมสู่กิจกรรมต่างๆในโรงเรียนและชุมชน เสมือนว่าโรงเรียนและชุมชนคือห้องปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนได้ใช้ทักษะชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน

PM2.5 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไขในหลายมิติและต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายๆฝ่าย โดยวิธีที่เราจะช่วยกันได้ คือ การเริ่มต้นจากตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อย PM2.5 เท่านั้นแต่ยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับพลังงานเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิต https://www.egat.co.th/home/statistics-fuel-usage/
  • กรมควบคุมมลพิษ. (2564). สถานการณ์ฝุ่นละออง PM5 ในประเทศไทย.
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2562). การศึกษาผลกระทบสุขภาพจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ.
  • International Energy Agency (IEA). (2021). Global Energy Review