ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงฤดูหนาวที่อากาศปิด ทำให้ฝุ่นสะสมในบรรยากาศมากขึ้น และหนึ่งในแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 คือการเดินทางและการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก หรือแม้แต่การเดินทางทางอากาศ

ฝุ่น PM2.5 จากการเดินทางเกิดจากหลายปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยเขม่าและควันพิษจำนวนมาก

อีกทั้งยังมีฝุ่นจากพื้นถนนที่เกิดจากการเสียดสีของล้อรถกับพื้นถนน รวมถึงการบดขยี้ของฝุ่นดินจากการก่อสร้างและการจราจรติดขัด นอกจากนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องบินและเรือยังเป็นอีกแหล่งหนึ่งของ PM2.5 แม้ว่าผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในระดับพื้นดินอาจน้อยกว่า แต่ก็สามารถสะสมและแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่

ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ ส่งผลต่ออวัยวะหลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และการติดเชื้อทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กโดยกระทบต่อการเจริญเติบโตของปอดและพัฒนาการทางสมอง อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวอีกด้วย จากการศึกษาของ ธีรวัฒน์ น้ำคำ (2564) พบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร โดยนักท่องเที่ยวจำนวนมากมีแนวโน้มลดหรือเลื่อนแผนการเดินทางเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง และยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องของ ชฎาภรณ์ นาประดิษฐ และวิษณุ อรรถวานิช (2563) พบว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวลดการเดินทางมายังพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศสูง

เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศจากการเดินทาง เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้หลายวิธี เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนน การเดินเท้าหรือปั่นจักรยานสำหรับระยะทางสั้นๆ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษ การใช้รถยนต์พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือรถยนต์ไฮบริดเพื่อลดไอเสีย นอกจากนี้ ทางเดียวกันไปด้วยกัน (Carpool) และการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือประชุมออนไลน์ ก็สามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทางลงได้

อีกแนวทางที่สำคัญคือการดูแลรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี เช่น การตรวจเช็กเครื่องยนต์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และใช้เชื้อเพลิงคุณภาพสูงเพื่อลดควันดำจากท่อไอเสีย หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ

การเดินทางเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม เราสามารถช่วยลดมลพิษได้ผ่านการเลือกใช้วิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ขนส่งสาธารณะ การเดินหรือปั่นจักรยาน และการเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด แม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่หากทุกคนร่วมมือกันก็สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศและสร้างเมืองที่น่าอยู่ขึ้นได้

——————————————————————————————————————

อ้างอิง

  • ชฎาภรณ์ นาประดิษฐ, & วิษณุ อรรถวานิช. (2563). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศไทย กรณีศึกษาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5). วารสารการศึกษาและการวิจัยทางพุทธศาสนา, 6(2), 253-270.
  • กิตติธัช หมื่นสิน. (2564). การรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในบริเวณป้ายรถประจำทาง เขตเทศบาลนครพิษณุโลก (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยนเรศวร).
  • ธีรวัฒน์ น้ำคำ. (2564). ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).