มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาตั้งแต่ยุคโบราณ เราอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหาร ที่พักอาศัย และยารักษาโรค ทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งนั้น และวิถีชีวิตในอดีตนั้นดำเนินไปอย่างสมดุล มนุษย์เคารพธรรมชาติและรู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายระบบนิเวศด้วยดีเสมอมา จวบจนความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ในยุคอุตสาหกรรมทำให้มนุษย์ห่างเหินจากธรรมชาติ การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่เกินพอดี ส่งผลให้เกิดการทำลายป่า มลพิษทางน้ำและอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์โดยตรงในท้ายที่สุด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การทำลายป่าต้นน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มดังที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นผลจากการการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ระบบนิเวศต้นน้ำเสียหาย ส่งผลให้น้ำหลากสร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก (กรมป่าไม้, 2565) นอกจากนี้
ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์อย่างร้ายแรง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศทั่วโลก ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี (WHO, 2021)
การทำลายธรรมชาติเท่ากับการทำร้ายตัวเอง เพราะระบบนิเวศที่เสียสมดุลย่อมหมายถึงการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น เช่น น้ำสะอาด อาหาร และอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งล้วนแต่จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพยังส่งผลให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ (โรคอุบัติใหม่)และการกลับมาของโรคอุบัติซ้ำที่อาจรุนแรงกว่าเดิมในอนาคต ในทางตรงกันข้าม หากมนุษย์ตระหนักถึงผลกระทบของการกระทำและกลับมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ก็เปรียบเสมือนการดูแลสุขภาพของตัวเอง การดูแลรักษาธรรมชาติไม่เพียงแต่ช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
เราสามารถเริ่มต้นได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การแยกขยะและนำกลับไปรีไซเคิล ใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในระดับชุมชนสามารถร่วมกันทำกิจกรรมปลูกป่า จัดตั้งพื้นที่สีเขียวในเมือง และสร้างระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
ในระดับประเทศ การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการควบคุมมลพิษเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่สามารถฟื้นฟูแม่น้ำทามะที่เคยมีปัญหามลพิษขั้นร้ายแรงให้กลับมาสะอาดได้ด้วยมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ (UNEP, 2019)
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่แค่ภาระหรือหน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นการลงทุนเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์โดยตรง
การเปลี่ยนมุมมองจากการมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรสู่การมองธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องรักษาไว้ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม
อ้างอิง:
- กรมป่าไม้. (2565). รายงานสถานการณ์ป่าไม้และภัยธรรมชาติ จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้.
- WHO. (2021). Air pollution data portal. World Health Organization.
- UNEP. (2019). Freshwater Restoration Initiatives: Case Studies from Japan. United Nations Environment Programme.