ชื่อไทย                  กระพี้จั่น

ชื่อท้องถิ่น             จั่น พี้จั่น (ทั่วไป) ปี้จั่น (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์       Millettia brandisiana Kurz

วงศ์                         FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8 – 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลม โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกสีน้ำตาล หรือน้ำตาลเทาแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามกิ่งมีรอยแผลทั่วไป

ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่  เรียงเวียนสลับ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 3 – 4.5 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม โคนใบมน สอบเรียว หรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ ปลายใบทู่ แผ่นใบบาง

ลักษณะดอก ช่อแยกแขนง ออกตามกิ่งและง่ามใบ ดอกย่อยสีม่วงแกมขาว หรือสีชมพูอมม่วง รูปถั่ว กลีบเลี้ยงสีม่วงดำเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ยาว 0.4 – 0.5 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุม ดอกตูมสีน้ำตาลเข้มหรือม่วงดำ มีกลีบดอก 5 กลีบ 4 กลีบมีรูปร่างยาวรีรูปขอบขนาน กว้าง 0.3 – 0.5 เซนติเมตร ยาว 1.0 – 1.5 เซนติเมตร และอีก 1 กลีบมีรูปร่างกลมบิดม้วน กว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.8 – 2.0 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกสองแนว ฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย กว้าง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 9 – 12 เซนติเมตร เปลือกเกลี้ยงหนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เมล็ดสีน้ำตาลดำ 1 – 4 เมล็ด

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ติดผลเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

มีถิ่นกำเนิดที่เอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยพบตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วทุกภาค ที่ความสูง 50 – 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

เป็นไม้ประดับเนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงาม เมื่อถึงฤดูกาลออกดอกกระพี้จั่นจะทิ้งใบ และผลิดอกสีม่วงอมครามกระจ่างไปทั้งต้น

เนื้อไม้: ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องมือช่าง หรือเครื่องมือการเกษตร ทำเยื่อกระดาษ

ลำต้น: ต้มดื่มบำรุงเลือด

ใบ: ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน)

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0006″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นกระพี้จั่น”]