ชื่อไทย                    กาซะลองคำ (-)

ชื่อท้องถิ่น               กากี (สุราษฎร์ธานี) แคะเป๊าะ สะเภาหลามต้น (ลำปาง) จางจืด (เชียงใหม่) สะเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Radermachera ignea (Kurz) Steenis

วงศ์                          BIGNONIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 10 – 15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่เป็นชั้น ทรงแคบและโปร่งกิ่งก้นเล็กห้อยลู่ลง ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาลหรือสีเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย มีรูอากาศกระจายทั่วลำต้น

ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนก 2 – 3 ชั้น เรียงตรงกันข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก เบี้ยว กว้าง 2 – 6 เซนติเมตร ยาว 5 – 12 เซนติเมตร โคนสอบเรียว ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม

ลักษณะดอก ช่อกระจุกสั้นๆ ออกตามลำต้นและกิ่ง มี 5 – 13 ดอก ดอกย่อยสีส้ม รูปกรวย กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งคล้ายกาบ ยาว 1.5 – 2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 4.5 – 7 เซนติเมตร ปลายแยก เป็นแฉก รูปกลม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีขน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกสองแนว ผลสีน้ำตาล ทรงกระบอก เรียวเล็กและบิดเล็กน้อย ยาว 30 – 45 เซนติเมตร เมล็ดจำนวนมาก มีปีก

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนมกราคม – เดือนเมษายน ติดผลเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบในประเทศจีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ลาว และเวียดนาม ในไทยพบกระจายทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และเขาหินปูน ที่ระดับความสูงถึงประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0007″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นกาซะลองคำ”]